คุณค่าที่ได้รับจากเรื่องขุนช้างขุนแผน

คุณค่าด้านสังคม

         ๑.  ลักษณะทางสังคม  ยกตัวอย่างเช่น  ตอนขุนช้างถวายฎีกา  เป็นตอนที่ชะตาชีวิตของนางวันทองตกต่ำถึงที่สุด  คือ  ถูกพระพันวษาพิพากษาให้ประหารชีวิต  ซึ่งจะเป็นตอนที่มีหลากหลายอารมณ์  ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในสถานภาพใดในสังคม  กษัตริย์  สามี  ภรรยา  มารดา  บุตร  ตัวละครในตอนนี้แทบทุกคัวมีบทบาทสำคัญ  แต่ที่เด่นที่สุดมี  ๒  ตัว  คือ  สมเด็จพระพันวษาและ       นางวันทอง  จากเนื้อเรื่องผู้ที่น่ารเห็นใจไม่เพียงแต่นางวันทองเท่านั้น  สมเด็จพระพันวษาก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่น่าเห็นใจ  เนื่องจากฝ่ายหนึ่งถูกสั่งประหารและอีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายสั่งประหารชีวิต

         ๒.  แนวคิดเกี่ยวกับสังคม  

                ๒.๑  ฐานะและบทบาทของสตรีในสังคม     นางวันทองเป็นตัวอย่างของสตรีไทยสมัยโบราณโดยแท้  คือเกิดมาเพื่อรับบทของบุตรี  ภรรยาและมารดา  ตามที่ธรรมชาติและสังคมเป็นผู้กำหนด  และเมื่อต้องรับบทพลเมืองก็เป็นพลเมืองตามที่ผู้ปกครองพึงปรารถนาให้เป็น  เนื่องจากนางวันทองไม่มีโอกาสเลือก  อาจได้แต่เพียงคิดแต่ไม่เคยได้ปฏิบัติตามที่คิด  นางวันทองถูกกำหนด  เส้นทางของชีวิตให้เป็นไปตามความต้องการของคนอื่นทั้งสิ้น  ความเคยชินจากการเป็นผู้ปฏิบัติตาม  เมื่อสมเด็จพระพันวษาทรง    เปิดโอกาสให้นางเลือกทางเดินของชีวิตตนเอง  นางก็ว้าวุ่นใจไม่อาจตัดสินใจได้  จึงก่อให้เกิดเหตุการณือันเสร้าสะเทือนใจในที่สุด

               ๒.๒  บทบาทของกษัตริย์ต่อประชาชนในสังคมไทย  สมเด็จพระพันวษานั้น  ถ้าจะพิจารณาอย่างละเอียด  ก็จะเห็นได้ว่าแม้จะทรงเป็นเจ้าชีวิต  มีพระราชอำนาจอันล้นพ้น  แต่ก็มิได้ทรงใช้อำนาจอย่างปราศจากเหตุผลหรือด้วยพระอารมณ์  หากได้ ทรงปฏิบัติอย่างเหมาะสม  และทรงมีพฤติกรรมไปในทางที่สมเหตุสมผลที่สุด  เนื่องจากต้องแก้ไขปัญหาระดับประเทศแล้วยังต้องแก้ไขปัญหาระดับครอบครัวของประชาชน  เปรียบเหมือนพ่อหรือผู้ใหญ่ในครอบครัว  เวลาคนในครอบครัวมีเรื่องเดือดร้อนหรือ        เกิดเหตุการณ์วุ่นวายและมาฟ้อง  ก็ต้องทรงเป็นราชธุระ

               ๒.๓  ค่านิยมและความเชื่อเกี่ยวกับสตรี  สังคมไทยไม่นิยมสตรีเยี่ยงนางวันทอง  คือมีสามีสองคน   ในเวลาเดียวกัน  แม้โดยแท้จริงแล้วการที่มีสามีสองคนนั้นมิใช่เกิดจากความปรารถนาของนางเอง  แต่จุกนี้สังคมกลับมองข้าม  เห็นแต่เพียงผิวเผินว่านางน่ารังเกียจ

ในทางตรงกันข้าม  ค่านิยมเกี่ยวกับการมีภรรยาหลายคนในเวลาเดียวกัน  กลับปรากฎในหมู่คนชั้นสูง  โดยฌฉพาะ  ผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์ของไทย  แต่สังคมไม่รังเกียจ  กลับนิยมยกย่อง  เพราะค่านิยมกำหนดว่าลักษระเช่นนี้เป็นเครื่องเสริมบารมีและความเป็นบุรุษอาชาไนยให้มากยิ่งขึ้น

 

คุณค่าด้านวรรณศิลป์

สะท้อนถึงอารมณ์โกรธแค้นและสะเทือนใจ

…ยิ่งคิดเดือดดาลทะยานใจ             ฉวยได้กระดานชะนวนมา
ร่างฟ้องท่องเทียบให้เรียบร้อย          ถ้อยคำถี่ถ้วนเป็นหนักหนา…

มีการพรรณณาถึงเรื่องฝันร้าย

…ครั้งนี้น่าจะมีอันตราย                  ฝันร้ายสาหัสตัดตำรา
พิเคราะห์ดูทั้งยามอัฐกาล               ก็บันดาลฤกษ์แรงเป็นหนักหนา
มิรู้ที่จะแถลงแจ้งกิจจา                  กอดเมียเมินหน้าน้ำตากระเด็น…

ใช้ถ้อยคำเกิดความเศร้าสะเทือนใจสงสารในชะตากรรมของตัวละคร

…วันนี้แม่จะลาพ่อพลายแล้ว                 จะจำจากลูกแก้วไปสูญสิ้น
พอบ่ายก็จะตายลงถมดิน                     ผินหน้ามาแม่จะขอชม
เกิดมาไม่เหมือนกับเขาอื่น                   มิได้ชื่นเชยชิดสนิทสนม…
…ร่ำพลางนางกอดพระหมื่นไวย             น้ำตกไหลซบเซาไม่เงยหน้า
ง่วงหงุบฟุบลงกับพสุธา                      กอดลูกยาแน่นิ่งไม่ติงกาย ฯ

คุณค่าที่ได้รับจากเรื่องอิเหนา

คุณค่าด้านแนวคิดและคติชีวิต

สะท้อนภาพชีวิตของบรรพบุรุษ

–  การแบ่งชนชั้นวรรณะ  เช่น  การไม่ยอมไปเกลือกกลั้วกับวงศ์ตระกูลอื่นนอกจากวงศ์เทวาด้วยกัน  ทำให้เกิดการแต่งงานระหว่างพี่น้องสายเลือดเดียวกัน
–  ไม่มีสิทธิ์เลือกคู่ครองด้วยตนเอง  ต้องปฏิบัตตามความพอใจของผู้ใหญ่
–  สภาพความเป็นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข  มีการละเล่นต่าง ๆ มากมาย
–  มีความเชื่อทางไสยศาสตร์  เช่น  การแก้บน  การใช้เครื่องรางของขลัง  การดูฤกษ์ยาม
–  ด้านกุศโลบายการเมือง  มีการรวบรวมเมืองที่อ่อนแอกว่าเข้ามาเป็นเมืองบริวาร

ความเข้าใจธรรมชาติมนุษย์

–  ธรรมชาติในเรื่องความรักของคนวัยหนุ่มสาว  มักขาดความยั้งคิด  เอาแต่ใจตนเองเป็นใหญ่  ไม่คำนึงถึงความทุกข์ใจของพ่อแม่
–  ธรรมชาติของอารมณ์โกรธ  มักทำให้วู่วามตัดสินใจผิดพลาดอันจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้

อิเหนา  เป็นวรรณคดีที่เป็นมรดกของชาติที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานตามเนื้อเรื่อง  ความไพเราะของรสวรรณคดี  และสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพชนที่ได้ถ่ายทอดสภาพของสังคมไทย  ศิลปะ  วัฒนธรรม  ประเพณี  ความคิด  ความเชื่อแบบไทย ๆ สอดแทรกไว้ได้อย่างมีศิลป์  ทั้งยังแฝงด้วยข้อคิด  คติธรรมที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตอีกด้วย

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องอิเหนา 

๑. การเอาแต่ใจตนเอง อยากได้อะไรเป็นต้องได้

จากในวรรณคดีเรื่องอิเหนานั้น เราได้ข้อคิดเกี่ยวกับการเอาแต่ใจตนเอง อยากได้อะไรเป็นต้องได้ ไม่รู้จักระงับความอยากของตน หรือพอใจในสิ่งที่ตนมีแล้ว ซึ่งการกระทำเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา และคนอื่นๆ ก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย ดังเช่นในตอนที่อิเหนาได้เห็นนางบุษบาแล้วเกิดหลงรัก อยากได้มาเป็นมเหสีของตน กระนั้นแล้ว อิเหนาจึงหาอุบายแย่งชิงนางบุษบา แม้ว่านางจะถูกยกให้จรกาแล้วก็ตาม โดยที่อิเหนาได้ปลอมเป็นจรกาไปลักพาตัวบุษบา แล้วพาไปยังถ้ำทองที่ตนได้เตรียมไว้ ซึ่งการกระทำของอิเหนานั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้คนเดือดร้อนไปทั่ว พิธีที่เตรียมไว้ก็ต้องล่มเพราะบุษบาหายไป อีกทั้งเมืองยังถูกเผา เกิดความเสียหายเพียงเพราะความเอาแต่ใจอยากได้บุษบาของอิเหนานั่นเอง

๒. การใช้อารมณ์

ในชีวิตของมนุษย์ทุกคนนั้น ย่อมต้องประสบพบกับเรื่องที่ทำให้เราโมโห หรือทำให้อารมณ์ไม่ดี ซึ่งเมื่อเป็นดังนั้น เราควรจะต้องรู้จักควบคุมตนเอง เพราะเมื่อเวลาเราโมโห เราจะขาดสติยั้งคิด เราอาจทำอะไรตามใจตัวเองซึ่งอาจผิดพลาด และพลอยทำให้เกิดปัญหาตามมาอีก ฉะนั้นเราจึงต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง และเมื่อเรามีสติแล้วจึงจะมาคิดหาวิธีแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งภายในเรื่องอิเหนาเราจะเห็นได้จากการที่ท้าวดาหาได้ประกาศยกบุษบาให้ใครก็ตามที่มาสู่ขอ โดยจะยกให้ทันที เพราะว่าทรงกริ้วอิเหนาที่ไม่ยอมกลับมาแต่งงานกลับบุษบาตามที่ได้หมั้นหมายกันไว้ การกระทำของท้าวดาหานี้ได้ก่อให้เกิดปัญหาและความวุ่นวายหลายอย่างตามมา และท้าวดาหานั้นยังกระทำเช่นนี้โดยมิได้สนใจว่าบุตรสาวของตนจะรู้สึกเช่นไร หรือจะได้รับความสุขหรือความทุกข์หรือไม่

๓. การใช้กำลังในการแก้ปัญหา

โดยปกติแล้ว เวลาที่เรามีปัญหาเราควรจะใช้เหตุผลในการแก้การปัญหานั้น ซึ่งถ้าเราใช้กำลังในการแก้ปัญหา นั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดผลเสียตามมา และอาจเป็นการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนไปด้วย ตัวอย่างเช่น ท้าวกะหมังกุหนิงที่ได้ส่งสารมาสู่ขอบุษบาให้กับวิหยาสะกำบุตรของตน เมื่อทราบเรื่องจากท้าวดาหาว่าได้ยกบุษบาให้กับจรกาไปแล้ว ก็ยกทัพจะมาตีเมืองดาหาเพื่อแย่งชิงบุษบา ซึ่งการกระทำที่ใช้กำลังเข้าแก้ปัญหานี้ก็ให้เกิดผลเสียหลายประการ ทั้งทหารที่ต้องมาต่อสู้แล้วพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก สูญเสียบุตรชาย และในท้ายที่สุดตนก็มาเสียชีวิต เพียงเพราะต้องการบุษบามาให้บุตรของตน

๔. การไม่รู้จักประมาณตนเอง

เราทุกคนเมื่อเกิดมาแล้ว ย่อมมีในสิ่งที่แตกต่างกัน เราก็ควรรู้จักประมาณตนเองบ้าง พอใจในสิ่งที่ตนมี เราควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่นด้วย ถ้าเรารู้จักประมาณตนเองก็จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ซึ่งถ้าเราไม่รู้จักประมาณตนเอง ก็อาจทำให้เราไม่มีความสุข เพราะไม่เคยสมหวังในชีวิต เช่นกับ จรกาที่เกิดมารูปชั่ว ตัวดำ อัปลักษณ์ จรกานั้นไม่รู้จักประมาณตนเอง ใฝ่สูง อยากได้คู่ครองที่สวยโสภา ซึ่งก็คือบุษบา เมื่อจรกามาขอบุษบา ก็ไม่ได้มีใครที่เห็นดีด้วยเลย ในท้ายที่สุด จรกาก็ต้องผิดหวัง เพราะอิเหนาเป็นบุคคลที่เหมาะสมกับบุษบาไม่ใช่จรกา

๕. การทำอะไรโดยไม่ยั้งคิด

หรือคำนึงถึงผลที่จะตามมา การจะทำอะไรลงไป เราควรจะคิดทบทวนหรือ ชั่งใจเสียก่อนว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ ทำแล้วเกิดผลอะไรบ้าง  เมื่อเรารู้จักคิดทบทวนก่อนจะกระทำอะไรนั้น จะทำให้เราสามารถลดการเกิดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น หรือสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที จากเรื่องอิเหนาในตอนที่อิเหนาได้ไปร่วมพิธีศพของพระอัยกีแทนพระมารดาที่เมืองหมันหยา หลังจากที่อิเหนาได้พบกับจินตะหราวาตี ก็หลงรักมากจนเป็นทุกข์ ไม่ยอมกลับบ้านเมืองของตน ไม่สนใจพระบิดาและพระมารดา ไม่สนใจว่าตนนั้นมีคู่หมั้นอยู่แล้ว ซึ่งมิได้คำนึงถึงผลที่จะตามมาจากปัญหาที่ตนได้ก่อขึ้น

คุณค่าที่ได้รับจากเรื่องรามเกียรติ์

ด้านวรรณศิลป์

๑.การสรรคำ การใช้คำที่หลากหลายในการสื่อความหมายถึงตัวละครแต่ละตัว ซึ่งการสรรคำ จะทำให้ผู้อ่านไม่เกิดความเบื่อหน่ายเพราะหากไม่มีการสรรคำก็จะต้องใช้สรรพนามแทนตัวละครหนึ่งๆซ้ำๆ กันอยู่ตลอดเวลาก็จะทำให้เรื่องราวอาจกร่อยลงได้

คำที่มีความหมายว่า พระราม, พระนารายณ์

     เมื่อนั้น พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี
น้อมเศียรกราบบาทพระจักรี ชุลีกรสนองพระบัญชา
เมื่อกี้ได้ยินสำเนียง สุรเสียงสมเด็จพระเชษฐา
………………… …………………
พระพี่นางได้ยินเสียงมัน สำคัญว่าเสียงพระสี่กร
ขับน้องให้ตามเบื้องบาท พระตรีภูวนาททรงศร
ทูลว่าใช่เสียงพระภูธร อสุรีหลอกหลอนเป็นมายา

คำที่มีความหมายว่า นางสีดา

ก็เล็งทิพเนตรลงมาดู ก็รู้ว่าสมเด็จพระลักษมี
จะลุยเพลิงถวายพระจักรี ยังที่สุวรรณพลับพลา
เมื่อกี้ได้ยินสำเนียง สุรเสียงสมเด็จพระเชษฐา
………………… …………………
ครั้นเห็นซึ่งดวงประทุมมาศ โอภาสพรรณรายฉายฉัน
ผุดขึ้นกลางกองเพลิงนั้น รับองค์กัลยายุพาพาล

คำที่มีความหมายว่า ทศกัณฐ์

     เมื่อนั้น ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ
เสด็จจากแท่นรัตน์ชัชวาล เข้าปราสาทสุรกานต์รูจี
     เมื่อนั้น ท้าวยี่สิบกรยักษา
เสียสองลูกรักคือดวงตา อสุรารำพึงคะนึงคิดฯ

๒.การเล่นคำซ้ำ ทำให้เกิดความไพเราะและเสริมความงดงามของบทประพันธ์ ซึ่งในเรื่องรามเกียรติ์นี้พบเป็นจำนวนมาก เช่น

     บัดนั้น ปักหลั่นสิทธิศักดิ์ยักษี
ถาโถมโจมจ้วงทะลวงตี ด้วยกำลังอินทรีย์กุมภัณฑ์
ต่างถอยต่างไล่สับสน ต่างตนฤทธิแรงแข็งขัน
สองหาญต่อกล้าเข้าโรมรัน ต่างตีต่างฟันไม่งดการ

คำที่มีความหมายว่า โกรธ ได้แก่ โกรธ โกรธา กริ้ว๓. การหลากคำ หรือคำไวพจน์ การเลือกใช้คำที่เขียนต่างกันแต่ความหมายเหมือนกัน เช่น

  • คำที่มีความหมายว่า ม้า ได้แก่ พาชี มโนมัย สินธพ อาชาไนย อัสดร นฤเคนทร์ สีห์
  • คำที่มีความหมายว่า ศัตรู ได้แก่ ไพรี ปัจจามิตร ปรปักษ์ อรินทร์ ไพริน อริ อัสดร เวรี
  • คำที่มีความหมายว่า ภูเขา ได้แก่ บรรพต สิงขร พนม คีรี

ด้านเนื้อหา

เนื้อหานอกจากจะให้ความเพลิดเพลินแล้ว ตัวละครในเรื่องยังได้แสดงถึงคุณธรรมที่เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต เช่น

พระรามเป็นบุตรที่มีความกตัญญูต่อบิดามารดา โดยยินยอมออกเดินป่าเป็นเวลาถึง ๑๔ ปีเพื่อรักษาความสัตย์ของบิดา

   เมื่อนั้น พระรามสุริยวงศา
รับเอาซึ่งเครื่องจรรยา แล้วมีบัญชาตรัสไป
เอ็งจงกราบทูลเสด็จแม่ ว่าเราบังคมประนมไหว้
อันสัตย์พระปิตุรงค์ทรงชัย กูนี้มิให้เสียธรรม์
อย่าว่าแต่ไปสิบสี่ปี จะถวายชีวีจนอาสัญ
ให้เป็นที่สรรเสริญแก่เทวัญ ว่ากตัญญูต่อบิดา
ซึ่งน้องเราจะผ่านพระนคร ให้ถาวรบรมสุขา
วันนี้จะถวายบังคมลา อย่าให้พระแม่ร้อนใจฯ

นอกจากนี้ยังมีข้อคิดที่ได้อีกมากมาย เช่น

๑.ทั้งในเรื่องความยุติธรรมของท้าวมาลีวราชที่ไม่เข้าข้างฝ่ายทศกัณฐ์ซึ่งเป็นหลานของตน แต่ฟังความจากทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกคน

๒.การไม่เห็นแก้พวกพ้องจนเสียความยุติธรรม เห็นได้จากสุครีพ ที่สาบานเป็นเพื่อนตายกับพิเภก แต่เมื่อได้รับบัญชาให้สอบสวนนางเบญจกายซึ่งปลอมตัวเป็นนางสีดาตายลอยน้ำมาลวงพระราม สุครีพสอบสวนความได้ว่า นางเป็นธิดาของพิเภกจึงเชื่อคำให้การของนางเบญจกายแต่ก็ให้นางเข้าพบพระรามเพื่อตัดสินคดี ไม่ปล่อยให้นางเป็นอิสระทันที

๓.ความกล้าหาญในการรบของหนุมานและสุครีพ ที่ต่อสู้กับศัตรูอย่างกล้าหาญ

ด้านสังคม

๑.วัฒนธรรมและประเพณี ได้แก่ การทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ประเพณีการจัดทัพและการตั้งค่าย ความเชื่อเรื่องโชคลาง และการบูชาบวงสรวงเทวดา เช่น พิธีปรุงข้าวทิพย์ ความเชื่อเรื่องโชคลางในการหาฤกษ์ยามที่เหมาะสมในการออกทัพ หรือระเบียบวิธีทางการทูตสมัยเก่า เช่นการปฏิสันถารสามนัด (เมื่อพระราชาพบทูต จะถามคำถามสามคำถามก่อนที่จะเจรจากัน ได้แก่ ๑.พระราชาของท่านเป็นอย่างไร ๒.เมืองของท่านเป็นอย่างไร ๓.ท่านมีจุดประสงค์อะไร ซึ่งเป็นโอกาสให้ทูตให้ปฏิภาณไหวพริบตอบ) เป็นต้น

๒.การแสดงสภาพชีวิตความเป็นอยู่และค่านิยมของบรรพบุรุษ ที่ย่อมจะสอดแทรกสภาพสังคมสมัยก่อน

๓.การเข้าในธรรมชาติของมนุษย์ ตัวละครแต่ละตัวเป็นตัวแทนของมนุษย์โดยทั่วไปที่มี รัก โลภ โกรธ หลง ดีใจ เสียใจ

๔.เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ชื่อเมืองและสถานที่หลายๆแห่งในเรื่องรามเกียรติ์นั้น ร่วมสมัยกับเมืองไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เช่นเมืองอยุธยา เมืองบุรีรัมย์ แม่น้ำสะโตง นอกจากนั้นเทคโนโลยีก็ร่วมสมัยกัน เช่นมีการกล่าวถึงอาวุธปืน ซึ่งย่อมไม่มีในรามายณะ นอกจากนั้นระบบการปกครองในรามเกียรติ์ยังเป็นระบบการปกครองแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เก่า ที่เจ้าเมืองขึ้นยอมสยบต่อเมืองแม่เป็นทอดๆ โดยการเคารพใน ‘บุญ’ ของพระมหากษัตริย์เป็นหลัก

๕.สอดแทรกมุมมองของปราชญ์ไทยที่นอกเหนือจากรามายณะ เช่น เมื่อกุมภกรรณออกรบกับพระรามนั้น ได้ตั้งปริศนาถามพระรามไว้บอกว่าถ้าพระรามตอบได้จะยอมเลิกทัพกลับ ปริศนาถามว่า ชีโฉด หญิงโหด ช้างงารี ชายทรชน สี่อย่างนี้คืออะไร พระรามตอบไม่ได้จึงใช้องคตมาถาม กุมภกรรณจึงเฉลยว่า

หญิงโหด คือนางสำมะนักขาที่คิดเอาพระรามเป็นสามี พอไม่ได้ก็และยุยงให้พี่น้องมารบกับพระรามจนเกิดเรื่อง

ช้างงารี คือทศกัณฐ์ที่เกะกะอันธพาล ไปแย่งเมียคนอื่น

ชีโฉด คือพระรามที่เพื่อแย่งชิงนางสีดากลับ ถึงกับยกทัพใหญ่มาทำการวุ่นวาย ทำให้คนบริสุทธิ์มากมายเดือดร้อน

ชายทรชน คือพิเภกที่ไม่รู้จักบุญคุณพี่น้อง ไปบอกความลับของฝ่ายลงกาแก่ศัตรู เหมือนแกล้งฆ่าพี่น้องทุกคน

คำบริภาษนี้เป็นของปราชญ์ไทยแต่งขึ้นโดยไม่มีในรามายณะต้นฉบับ ได้เป็นคำบริภาษทุกฝ่ายอย่างยุติธรรมตามมุมมองของกุมภกรรณ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นมุมมองของกวีที่สอดแทรกไว้ก็ได้

สำนวนไทยที่สอดแทรก

กล่องดวงใจ : ในเรื่อง มียักษ์สองตนคือ ทศกัณฐ์และไมยราพที่อยู่ยงคงกระพันแม้โดนฟาดฟันด้วยอาวุธต่างๆ ก็ไม่ตาย ทั้งนี้เนื่องมาจาก ทั้งสองได้ถอดดวงใจออกจากตัวแล้วนำใส่กล่องไปเก็บไว้ที่อื่น โดยที่ทศกัณฐ์นำดวงใจไปเก็บไว้ที่ภูเขานิลคีรี ส่วนไมยราพนั้นนำไปเก็บไว้ในถ้ำบนยอดเขาตรีกูฏ

กล่องดวงใจ จึงหมายถึงสิ่งหรือผู้ที่เจ้าของผู้ครอบครองเห็นว่ามีค่าสูงดังชีวิตตนและพยายามเก็บรักษาไว้ด้วยความหวงแหน

น้ำบ่อน้อย : คราวที่หนุมานรับอาสาไปเฝ้านางสีดา แล้วตอนกลับได้ฉวยโอกาสลอบเผากรุงลงกา แต่ไฟก็ได้ไหม้ที่ปลายหางของตนซึ่งพยายามดับเท่าไหร่ก็ไม่มอดจึงต้องอาศัยฤๅษีบอกใบ้ว่าให้ดับด้วยน้ำบ่อน้อย หนุมานนึกออกจึงส่งปลายหางเข้าปากอมไว้ ไฟนั้นจึงได้มอดสนิท

น้ำบ่อน้อย หมายถึงน้ำลาย คือถ้าพูดให้ดีก็สามารถดับทุกข์ได้

ลูกทรพี/วัดรอยเท้า : ทรพีเป็นลูกของทรพากันางนิลากาสร เดิมทรพานั้นชื่อนนทกาลทำหน้าที่เฝ้าทวาร ณ เขาไกรลาส ถูกสาปให้ลงมาเกิดเป็นควายและเมื่อใดที่ถูกลูกฆ่าตายจึงจะพ้นโทษ เมื่อกำเนิดเป็นควายทรพาจำคำสาปได้จึงเที่ยวฆ่าลูกให้ตายเสมอ จนนางนิลากาสรแอบไปคลอดในถ้ำ พอทรพีโตขึ้นก็มีความอาฆาตแค้นพ่อ คอยวัดรอยเท้าทรพาอยู่เป็นประจำ จนเห็ว่าขนาดรอยเท่ากันแปลว่าไม่เสียเปรียบกันแล้ว จึงไปท้าสู้และได้ฆ่าต่อของตนตาย

วัดรอยเท้า ใช้เปรียบในกรณีที่ผู้เยาว์หรือผู้น้อยแอบฝึกตัวเพื่อหาทางเอาชนะผู้อาวุโสหรือผู้ใหญ่