ลิลิตตะเลงพ่าย

เรื่องย่อลิลิตตะเลงพ่าย

ตัวละคร

คุณค่าที่ได้รับจากเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย

          เป็นวรรณคดีไทยที่แต่งด้วยถ้อยคำไพเราะและสามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้งอย่างยิ่งทั้งนี้เพราะกวีได้ตอบสนองรสนิยมของคนไทย ที่มีจิตใจละเอียดอ่อน ชอบวรรณศิลป์ ชอบใช้ถ้อยคำที่คล้องจอง คมคาย และชวนคิด ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นหนังสือที่มีศิลปะการใช้ภาษาที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการแต่งเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้ชาติความดีเด่นของลิลิตตะเลงพ่ายคือ การเล่นคำและการใช้โวหารอุปมาอุปไมย เพื่อให้เกิดภาพพจน์ จินตนาการ และสะเทือนอารมณ์ กวีได้สอดแทรกความรู้ต่างๆมากมาย เช่น การจัดกระบวนทัพของไทยสมัยอยุธยา และยุทธศาสตร์แต่ไม่เคร่งครัดในด้านภูมิศาสตร์ นอกจากนี้กวียังได้นำชื่อนกและชื่อต้นไม้มาใช้ในบทครวญถึงนางตามแบบอย่างลิลิตยวนพ่าย

          สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส (พ.ศ. ๒๓๓๓ – ๒๓๙๖) ผู้ทรงพระนิพนธ์ลิลิตตะเลงพ่าย มีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าวาสุกรี ทรงเป็นโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงอุปสมบทเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๔ และทรงครองเพศสมณะจนสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์ที่แท้จริง  แม้จะทรงมีพระภารกิจด้านศาสนาอยู่มาก แต่ก็ทรงศึกษาหนังสือทั้งด้านศาสนา นิติศาสตร์  โหราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ จึงทรงพระนิพนธ์หนังสือได้มากมาย ทางด้านวรรณคดี ทรงมีฝีมือเป็นเลิศในการแต่ง โคลง ฉันท์ และลิลิต

          เนื้อเรื่องของลิลิตตะเลงพ่าย ได้เค้าเรื่องมาจากพงศาวดารสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  กล่าวถึงการเสด็จเสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระราชบิดา และมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จไปตีเขมร เพื่อเป็นการแก้แค้นเขมรที่ยกทัพมาตีชายแดนไทย ต่อจากนั้น เนื้อเรื่องกล่าวถึงพระเจ้าหงสาวดีโปรดให้พระมหาอุปราชากรีฑาทัพมาตีไทย เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบข่าวศึกก็ยกทัพเสด็จออกไปทำศึกนอกพระนครระหว่างที่ทัพพม่าปะทะกับทัพหน้าของไทย ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวร และของสมเด็จพระเอกาทศรถตกมันวิ่งเข้าไปท่ามกลางข้าศึกตามลำพัง สมเด็จพระนเรศวรทรงระงับความตกพระทัย และตรัสท้าพระมหาอุปราชากระทำสงครามยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงได้รับชัยชนะ เมื่อเลิกทัพกลับพระนคร สมเด็จพระนเรศวรทรงปูนบำเหน็จรางวัลแก่ทหารผู้มีความชอบ และลงโทษประหารทหารที่ติดตามพระองค์ไม่ทัน ทั้งนี้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล แต่สมเด็จพระวันรัตวัดป่าแก้วได้กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ทหารเหล่านั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงยินยอมและโปรดให้ไปทำสงครามแก้ตัว หลังจากนั้นทรงดำเนินพระราชกรณียกิจต่อ ด้วยการทำนุบำรุงหัวเมืองเหนือ และรับทูตจากเมืองเชียงใหม่ที่มาขอเป็นเมืองขึ้น

ตัวอย่าง โวหารแสดงความโกรธจากลิลิต ตะเลงพ่าย ตอนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปรารภเรื่องที่จะไปปราบเขมร เนื่องจากเขมรมักจะยกทัพมาตีไทยระหว่างที่ไทยมีศึกกับพม่าทรงรู้สึกโกรธและเจ็บช้ำพระทัย ทำให้คิดอะไรก็
หมดความรื่นรมย์ จึงต้องยกทัพไปปราบให้หายแค้น ดังนี้

     “…คลุ้มกมลแค้นคั่ง ดังหนามเหน็บเจ็บช้ำ ย้ำ
ยอกทรวงดวงแด แลบชื่นอื่นชม…”
“…ครานี้กูสองตน ผ่านสกลแผ่นหล้า ควรไป
ร้ารอนเข็น เห็นมือไทยที่แกล้ว แผ้วภพให้เป็น
เผื่อน เกลื่อนภพให้เป็นพง…”

สงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาแห่งเมืองหงสาวดี ภาพสีฝุ่น พ.ศ. ๒๔๓๐ โดยหลวงพิษณุกรรม (เล็ก) ที่มา : พระที่นั่งวโรภาษพิมานพระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

เป็นวรรณคดีชั้นสูงของชาติซึ่งถือได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของวรรณคดีอื่นๆ

โคลงสี่สุภาพในเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย

ใส่ความเห็น