สามก๊ก

เรื่องย่อสามก๊ก

ตัวละคร

คุณค่าที่ได้รับจากเรื่องสามก๊ก

    กล่าวกันว่า เรื่องสามก๊กแต่เดิมเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟังในประเทศจีน ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑ – ๑๔๔๙) พวกงิ้วได้นำเรื่องสามก๊กมาแสดง ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวน (พ.ศ. ๑๘๒๐ – ๑๙๐๐    ตรงกับสมัยสุโขทัย) และสมัยราชวงศ์ไต้เหม็ง  (พ.ศ. ๑๙๑๑ – ๒๑๘๖) ได้มีการแต่งหนังสือโดยใช้เรื่องพงศาวดารเป็นหลัก นักเขียนผู้หนึ่งชื่อล่อกวนตง ชาวเมืองฮั่งจิ๋ว ได้นำเรื่องสามก๊กมาเขียนใหม่ เรียกว่า “สามก๊กจี่” มีความยาว  ๑๒๐ ตอน ต่อมานักปราชญ์อีก ๒ ท่าน คือ เม่าจงกังกับกิมเสี่ยถ่าง ได้ช่วยกันแต่งคำอธิบายเพิ่มเติมและพิมพ์เรื่องสามก๊กขึ้น เรื่องสามก๊กจึงแพร่หลายอย่างรวดเร็วภายในประเทศจีน ต่อมาได้มีการแปลเป็นภาษาต่างๆรวมทั้งภาษาไทย ซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้เป็นผู้อำนวยการการแปล เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๕

การแปลหนังสือสามก๊กใช้วิธีแปลสองชั้น ชั้นแรก ผู้รู้ภาษาจีนอย่างดีแต่รู้ภาษาไทยเพียงปานกลางได้อย่างต้นฉบับภาษาจีนแล้วถ่ายทอดเป็นภาษาไทย ชั้นที่สองผู้รู้ภาษาไทยอย่างดีได้นำฉบับที่ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยแล้วมาเขียนเป็น  ความเรียง ใช้ภาษาไทยแบบที่คนไทยใช้กันจริงๆ  ยกเว้นเฉพาะชื่อที่เป็นภาษาจีน ดังนั้น ภาษาแปลที่ใช้ในหนังสือสามก๊กจึงเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์จนเป็นแบบอย่างของการบรรยายและพรรณนาที่ให้ภาพที่เด่นชัดแก่ผู้อ่าน และให้ความประทับใจจนมีผู้นำไปใช้ตาม เช่น สำนวนที่ว่า “ว่าแล้วก็ให้จัดโต๊ะสุราอาหารออกมาเลี้ยงกัน” เป็นต้น

เนื้อเรื่องของสามก๊ก กล่าวถึงการทำสงครามชิงชัยกันระหว่างโจโฉ เล่าปี่ และซุ่นกวนเริ่มเรื่องตั้งแต่กษัตริย์ราชวงศ์ฮั่นอ่อนแอ อำนาจจึงตกอยู่กับขุนนางกังฉิน ทำให้เกิดความระส่ำระสายแตกแยก ต่างรบพุ่งเพื่อแย่งชิงอำนาจกัน   จนเหลือ ๓ ก๊กใหญ่ คือ วุยก๊ก จ๊กก๊ก และง่อก๊ก ต่างมีอาณาเขตเป็นอิสระ ภายหลังก๊กทั้งสามเสื่อมอำนาจลง มีผู้ตั้งราชวงศ์ใหม่ แผ่นดินจีนจึงกลับรวมกันเป็นอาณาจักรเดียว

อันที่จริงการแบ่งแยกอาณาเขตและการแย่งชิงอำนาจกันในจีนเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งใดน่าพิศวงเหมือนครั้งสามก๊ก เพราะแต่ละก๊กใช้อุบายต่างๆ เพื่อเอาชนะกัน ทั้งอุบายทางการเมืองการปกครอง และกลยุทธ์ ขณะเดียวกันก็ให้ บทเรียนคติธรรมในการดำเนินชีวิต และการทำงานตัวละครสำคัญในเรื่องมีบทบาทและพฤติกรรมที่เหมือนจริง ซึ่งมีทั้งดีและเลวปะปนกัน

การแปลเรื่องสามก๊กเป็นจุดเริ่มต้นของการแปลเรื่องจีนอื่นๆในสมัยต่อมา เช่น เรื่องไซ่ฮั่น ซ้องกั๋ง เป็นต้น

ตัวอย่าง การบรรยายลักษณะของเล่าปี่
          “…แลเมืองตุ้นก้วนมีชายคนหนึ่งชื่อเล่าปี่เมื่อน้อยชื่อเหี้ยนเต๊ก ก็ไม่สู้รักเรียนหนังสือ แต่มีน้ำใจนั้นดี ความโกรธความยินดีมิได้ปรากฏออกมาภายนอก ใจนั้นอารีย์นักมีเพื่อนฝูงมากใจกว้างขวาง หมายจะเป็นใหญ่กว่าคนทั้งปวงกอปด้วยลักษณะรูปใหญ่สมบูรณ์ สูงประมาณห้าศอกเศษ หูยานถึงบ่า มือยาวถึงเข่า หน้าขาวดังสีหยก ฝีปากแดงดังชาดแต้มจักษุชำเลืองไปเห็นหู…”

ตัวเอกในสามก๊ก : ขงเบ้ง : ภาพหุ่นกระบอกทั้งหมดเป็นของ นายจักรพันธุ์ โปษยกฤต

หนังสือเรื่องสามก๊กได้รับยกย่องให้เป็นยอดแห่งวรรณกรรมประเภทร้อยแก้วของไทย เรื่องสามก๊กยังเป็นอุทาหรณ์ให้คนไทยไม่แตกสามัคคี ส่วนราชาธิราชเป็นกำลังใจให้คนไทยมีจิตใจฮึกเหิมในการต่อสู้กับพม่า เหมือนเช่นกองทัพมอญของพระเจ้าราชาธิราชที่สามารถเอาชนะพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้

เพลง สามก๊กฉบับการ์ตูนมหาสนุก

ใส่ความเห็น