เรื่องย่อพระอภัยมณี

เนื้อเรื่องตอนที่ 1 การผจญภัยของพระอภัยมณี

  •        พระอภัยมณีและศรีสุวรรณเป็นโอรสของท้าวสุทัศน์และปทุมเกสร กษัตริย์ผู้ครองเมืองรัตนา เจ้าชายทั้งสองได้ออกเดินทางจากบ้านเมืองเพื่อเรียนไสยศาสตร์ และเสาะหาของวิเศษจากทิศาปาโมกข์ตามคำสั่งของบิดา แต่พระอภัยมณีกลับเลือกเรียนวิชาดนตรีคือการเป่าปี่ได้เป็นเอก มีอานุภาพโน้มน้าวจิตในคนหรือประหารผู้ฟังได้ตามใจปรารถนา ส่วนศรีสุวรรณเรียนวิชากระบี่กระบองจนเป็นเลิศ เมื่อกลับมาถึงบ้านเมือง ท้าวสุทัศน์โกรธมากที่โอรสไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและโดยที่ไม่ได้พิจารณาคุณค่าของสิ่งที่โอรสเรียนมาพระองค์ได้ตรัสในทำนองว่าน่าจะไล่ออกจากเมือง พระอภัยมณีและศรีสุวรรณน้อยใจจึงชวนกันออกจากเมืองไป
  •        ทั้งสองพระองค์เดินทางด้นดั้นมาจนถึงริมฝั่งทะเล ได้พบพราหมณ์หนุ่มน้อยสามคน มีโมรา ผู้ชำนาญในการผูกหญ้าเป็นสำเภายนต์ท่องทะเล วิเชียร ผู้สามารถยิงธนูได้คราวละ 7 ลูก และสานน ผู้สามารถเรียกลมฝนได้ตามใจปรารถนา เมื่อพราหมณ์ทราบปัญหาของกษัตริย์ทั้งสองแล้ว เกิดสงสัยในวิชาเป่าปี่ของของพระอภัยมณีว่ามีคุณค่าอย่างไร พระอภัยมณีเป่าปี่ให้ฟัง พราหมณ์ทั้งสามรวมทั้งศรีสุวรรณได้ฟังก็เคลิ้มหลับใหลไป ระหว่างนั้น นางผีเสื้อสมุทร ซึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำใต้ทะเลได้ผ่านมาเห็น
  •        พระอภัยมณีนั่งเป่าปี่อยู่ ก็นึกรัก จึงอุ้มพาไปไว้ในถ้ำ แปลงตนเป็นหญิงสาวคอยปรนนิบัติ พระอภัยมณีดูดวงตาก็รู้ว่ามิใช่มนุษย์แต่ก็จำทนต้องอยู่กินกับนางผีเสื้อสมุทร จนมีลูกชื่อว่าสินสมุทร
  •        ฝ่ายศรีสุวรรณและพราหมณ์ทั้งสามคน เมื่อตื่นขึ้นมาไม่เห็นพระอภัยมณีก็ออกติดตามจนพลัดหลงไปยังเมืองรมจักร ศรีสุวรรณปลอมตัวเป็นพราหมณ์เข้าเมือง จนได้พบนางเกษราธิดาของท้าวทศวงศ์เจ้าเมือง เกิดความรักต่อกัน ขณะนั้นเมืองรมจักรกำลังประสบปัญหาคือ ท้าวอุเทนกษัตริย์เมืองชวามาสู่ขอนางเกษรา ท้าวทศวงศ์ไม่ยอมยกให้ เพราะเห็นว่าเป็นกษัตริย์ต่างชาติ ต่างศาสนา ท้าวอุเทนยกกองทัพมาตีเมืองรมจักร ศรีสุวรรณและพราหมณ์ทั้งสามอาสาสู้ศึกจนได้ชัยชนะ ศรีสุวรรณได้อภิเษกกับนาง เกษรา ได้ครองเมืองรมจักรและต่อมามีธิดานามว่า อรุณรัศมี
  •        ด้านพระอภัยมณี ได้โอกาสหนีนางผีเสื้อสมุทร โดยอาศัยลูกคือสินสมุทร ทั้งนี้เพราะสินสมุทรเมื่ออายุได้ 8 ปี เป็นคนมีพละกำลัง มีอำนาจ มีความสามารถเหมือนแม่ ได้เปิดหินปากถ้ำออกไปเที่ยวเล่น พบเงือกก็จับมาให้พระอภัยมณีดู พระอภัยมณีจึงวางแผนหนีร่วมกับนางเงือกซึ่งอาสาจะช่วยเหลือ หลังจากออกอุบายให้นางผีเสื้อสมุทรไปจำศีลสะเดาะเคราะห์แล้ว พระอภัยมณีและสินสมุทรก็หนีนางผีเสื้อสมุทรมุ่งตรงไปยังเกาะแก้วพิสดารซึ่งมีพระโยคีผู้วิเศษพำนักอยู่ โดยพระอภัยมณีอาศัยผลัดขี่หลังเงือกพ่อ แม่ และลูกสาว ว่ายน้ำได้กันได้ห้าคืน นางผีเสื้อสมุทรกับมาถึงถ้ำรู้เรื่องก็ตามมาทัน จับเงือกพ่อ เงือกแม่กินเสีย พระอภัยมณีขี่หลังเงือกลูกสาวต่อไป โดยมีสินสมุทรต่อสู้กับผีเสื้อสมุทรถ่วงเวลาไว้ ในที่สุดพระอภัยมณี นางเงือก และสินสมุทรสามารถขึ้นเกาะแก้วพิสดารได้ นางผีเสื้อสมุทรไม่สามารถติดตามต่อไปได้ เพราะอำนาจมนต์ของพระโยคีแห่งเกาะแก้วพิสดาร และขณะที่พักอาศัยอยู่กับพระโยคี พระอภัยมณีก็ได้นางเงือกเป็นเมีย ต่อมาพระอภัยมณีและสินสมุนทรได้บวชเป็นฤาษี ได้สนิทสนมกับคนเรือแตกหลายชาติหลายภาษา ซึ่งอาศัยใบบุญของพระโยคีด้วยกัน

เนื้อเรื่องตอนที่ 2 การเดินทางของนางสุวรรณมาลี 

  •        กล่าวถึงเมืองผลึก มีท้าวสิลราชเป็นกษัตริย์ปกครอง มีธิดาชื่อว่านางสุวรรณมาลี ซึ่งได้หมั้นหมายไว้กับอุศเรน โอรสของกษัตริย์ฝรั่งเมืองลังกา วันหนึ่งนางสุวรรณมาลีฝันว่า ต้องระเหเร่ร่อนอยู่กลางทะเล พลัดพรากจากบ้านเมือง โหรจึงแนะนำให้สะเดาะเคราะห์โดยการออกท่องเที่ยวทะเล ระหว่างการเดินทาง เรือโดนพายุหลงทิศทาง ไปจนถึงเกาะแก้วพิสดาร ท้าวสิลราชและนางสุวรรณมาลีได้ขึ้นเฝ้าพระโยคี และได้พบกับพระอภัยมณี
  •        เมื่อซ่อมแซมเรือและได้เสบียงอาหารแล้ว ท้าวสิลราชก็พระโยคีกลับเมือง พระอภัยมณี สินสมุทร และพวกเรือแตกทั้งหลายก็อาศัยเดินทางไปด้วย ระหว่างการเดินทาง ถึงแม้จะรู้ว่านางสุวรรณมาลีมีคู่หมั้นอยู่แล้ว พระอภัยมณีก็ยังเกี้ยวนาง โดยอาศัยสินสมุทรเป็นสื่อรัก สินสมุทรกับนางสุวรรณมาลีสนิทสนมกันมาก สินสมุทรเรียกนางว่าแม่ เมื่อนางผีเสื้อสมุทรซึ่งวนเวียนคอยพระอภัยมณีอยู่ทำให้เรือแตก สินสมุทรก็อุ้มนางสุวรรณมาลีว่ายน้ำไป จนกระทั่งถึงเกาะและปลอดภัย ท้าวสิลราชสูญหายไปพร้อมไพร่พล ส่วน พระอภัยมณีกับพรรคพวกจากเกาะแก้วพิสดารว่ายน้ำไปขึ้นบนเกาะเล็ก ๆ ต่อมาใช้การเป่าปี่เป็นอาวุธฆ่านางผีเสื้อสมุทร หลังจากนั้นได้พบกับอุศเรนคู่หมั้นของนางสุวรรณมาลีที่ออกเรือเดินทางติดตามหานางมา เมื่อทราบเรื่องกัน พระอภัยมณีก็ได้อาศัยเรือของอุศเรนติดตามหาสินสมุทรและนางสุวรรณมาลีด้วยกัน
  •        สินสมุทรและนางสุวรรณมาลี ออกจากเกาะร้างโดยอาศัยเรือของโจรสุหรั่งที่แวะเกาะร้างเพื่อหาน้ำจืด เรือของโจรสุหรั่งเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร มีตึกรามบ้านช่อง สวนผลไม้ และสัตว์เลี้ยงอยู่บนเรือครบถ้วน พร้อมพรั่งด้วยเรือกำปั่นอีกห้าร้อยมีอาวุธครบ เที่ยวปล้นเรือและบ้านเมืองต่าง ๆ ต่อมาสินสมุทรฆ่าหัวหน้าโจรตาย เพราะโกรธหัวหน้าโจรที่ทำลวนลามต่อนางสุวรรณมาลี ไพร่พลของโจรสุหรั่งเกรงกลัวฤทธิ์เดชของสินสมุทร จึงยอมอยู่ใต้อำนาจ สินสมุทรคุมเรือโจรสุหรั่งจนกระทั่งถึงเมืองรมจักร เกิดรบพุ่งกับ ศรีสุวรรณ สินสมุทรจับศรีสุวรรณได้ ตอนนั้นศรีสุวรรณมองเห็นสินสมุทรสวมแหวนของพระอภัยมณี จึงได้ถามขึ้น ก็ทราบว่าเป็นอาเป็นหลานกัน ศรีสุวรรณเข้าใจว่านางสุวรรณมาลีเป็นแม่แท้ ๆ ของสินสมุทร เพราะสินสมุทรบอกเช่นนั้น นางสุวรรณมาลีก็ไม่ปฏิเสธ ต่อมาศรีสุวรรณ สินสมุทร นางสุวรรณมาลี และ อรุณรัศมี ได้พากันออกติดตามหาพระอภัยมณี เมื่อฝ่ายที่ตามหากันได้พบกัน ความยุ่งยากก็เกิดขึ้น เพราะสินสมุทรไม่ยอมคืนนางสุวรรณมาลี และนางสุวรรณมาลีก็เลือกที่จะอยู่กับสินสมุทร ซึ่งหมายความว่านางเลือกอยู่กับพระอภัยมณีแทนที่จะเลือกอุศเรน ทั้งสองฝ่ายจึงทำสงครามกัน อุศเรนถูกสินสมุทรจับได้ แต่พระอภัยมณีขอชีวิตไว้เพื่อตอบแทน บุญคุณ อุศเรนกลับเมืองลังกาด้วยความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาท
  •        ส่วนฝ่ายพระอภัยมณีเดินทางสู่เมืองผลึก มเหสีท้าวสิลราชเห็นนางสุวรรณมาลีกลับมาก็ดีใจมาก เมื่อนางทราบว่าพระอภัยมณีีเป็นโอรสกษัตริย์และมีรูปงาม นางจึงยกเมืองผลึกให้พระอภัยมณีครอบครองหวังจะได้อภัยมณีเป็นเขย แต่นางสุวรรณมาลีไม่ยอมอภิเษกกับพระอภัยมณีเพราะนางเห็นว่า พระอภัยมณีใจโลเล ขี้ขลาด ไม่กล้าตัดสินใจเมื่อเกิดปัญหากับอุศเรน ทำให้นางต้องอับอายขายหน้า นางจึงออกบวชเป็นชี พระอภัยมณีพยายามอย่างไรก็ไม่ประสบผลจนกระทั่งได้นางวาลี หญิงเจ้าปัญญาแต่รูปชั่วมาช่วยวางแผน จึงได้อภิเษกกับนาง เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว พระอภัยมณีจึงได้ศรีสุวรรณและสินสมุทร เดินทางกลับไปเยี่ยมท้าวสุทัศน์ที่เมืองรัตนา

เนื้อเรื่องตอนที่ 3 กำเนิดสุดสาคร และศึกระหว่างเมืองผลึกกับเมืองลังกา

  •        นางเงือก ซึ่งอาศัยอยู่ที่อ่าวหน้าเกาะแก้วพิสดารได้คลอดลูกชาย พระโยคีนำไปเลี้ยงไว้ให้ชื่อว่า สุดสาคร สุดสาครเป็นเด็กที่มีความสามารถโดยกำเนิดอยู่แล้ว เมื่อได้เรียนวิชาอาคมจากพระโยคีก็ยิ่งเก่งกล้ามากขึ้น เมื่ออายุได้สามขวบก็ลาพระโยคีและแม่ ออกตามมหาบิดา โดยมีม้านิลมังกร ม้าวิเศษลูกผสมระหว่างม้ากับมังกร ซึ่งจับได้กลางทะเลเป็นพาหนะคู่ใจ และมีไม้เท้าของพระโยคีเป็นอาวุธคู่มือ ระหว่างการเดินทางได้ผจญภัยต่าง ๆ กันเช่น รบกันพวกผีดิบ ถูกชีเปลือยเฒ่าเจ้าเล่ห์ผลักตกเหว แต่ทุกครั้งพระโยคีก็มาช่วย และสอนให้รู้ถึงการดำรงชีวิตในโลกด้วย
  •        ต่อมาสุดสาครได้เข้าไปถึงเมืองการะเวก กษัตริย์เมือง การะเวกเห็นเข้าก็นึกรัก จึงเลี้ยงไว้เป็นโอรสบุญธรรมคู่กับธิดาของพระองค์ชื่อเสาวคนธ์ ต่อมาพระองค์มีโอรสอีกองค์หนึ่งคือหัสไชย สุดสาครอยู่ในเมืองการะเวกถึง 10 ปี ก็ทูลลาเจ้าเมืองการะเวกติดตามพระบิดา นางเสาวคนธ์และหัสไชยได้ขอติดตามไปด้วย
  •        สงครามระหว่างเมืองผลึกกับเมืองลังกาเกิดขึ้นจากความโกรธของอุศเรน ผลการรบปรากฏว่าเมืองผลึกชนะด้วยอุบายอันชาญฉลาดของนางวาลี อุศเรนถูกจับได้ พระอภัยมณีกำลังจะปล่อยกลับเมือง แต่นางวาลีใช้อุบายยั่วจนอุศเรนอกแตกตาย ปีศาจอุศเรนกลับมาฆ่านางวาลีในภายหลังด้วย เจ้าลังกาเศร้าโศกถึงอุศเรนจนตรอมใจตาย นางละเวงวัลลาธิดาได้ครองเมือง ต่อมาแล้วทำสงครามแก้แค้นพระอภัยมณีต่อไป กลายเป็นศึกยืดเยื้อ มีการใช้อุบายให้กษัตริย์เมืองต่าง ๆ มาช่วยนางรบ ใครชนะจะได้นางและครองเมืองลังกา ศึกที่สำคัญ ๆ เช่น ศึกเจ้าละมานตีเมืองผลึก ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก ศึกพระอภัยมณีตีเมืองลังกา เป็นต้น สงครามครั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

1. การทำสงครามของทั้งสองฝ่าย สุนทรภู่ได้บรรยายถึงฉากการรบในทะเลเป็นส่วนใหญ่ อาวุธที่ใช้ในการรบมีทั้งอาวุธธรรมดา เช่นปืน ดาบ และอาวุธทางไสยศาสตร์ คาถาอาคมการสะกดทัพ แต่สิ่งที่ชี้ขาดชัยชนะ สุนทรภู่เน้นที่สติปัญญาของตัวละคร

2. ตัวละครสำคัญในฐานะแม่ทัพของฝ่ายเมืองผลึกมี พระอภัยมณี ศรีสุวรรณ สินสมุทร นางสุวรรณมาลี สุดสาคร พราหณ์โมรา สานนและวิเชียร พร้อมด้วยนางเสาวคนธ์และหัสไชย ซึ่งเดินทางมาพบบิดาที่เมืองผลึกในช่วงที่พระอภัยมณี
กำลังหลงรูปนางละเวงที่ถูกปีศาจเจ้าละมานสิง ตัวละครสำคัญฝ่ายเมืองลังกามี นางละเวง นางรำภาสะหรีลูกอิเรนแม่ทัพ นางยุพาผกา นางสุลาลีวัน ซึ่งเป็นธิดาบุญธรรมของนางละเวง โดยมีที่ปรึกษาคือ พระสังฆราชและบาทหลวงปีโป มีทหารเอกครึ่งคนครึ่งผีดิบคือ ย่องตอด

3. การทำสงครามอันยาวนานนี้ จุดเริ่มมาจากความโกรธแค้นพยาบาท แต่ต่อมาในตอนหลัง ๆ ตัวละครทั้งสองฝ่ายอ้างว่า
ตนต้องทำสงครามเพื่อรักษาชาติและศาสนา ฝ่ายเมืองผลึกก็กลัวสูญชาติศาสนา ถ้าแพ้ฝรั่งลังกา ฝ่ายลังกาก็กลัวสิ้นชาติศาสนา
ถ้าแพ้ฝ่ายเมืองผลึก

4. ขณะที่ตัวละครอื่น ๆ ฝ่ายเมืองผลึก มุ่งชัยชนะทางการทหาร แต่พระอภัยมณีกลับทำสงครามโดยอาศัยการเขียนเพลงยาวถึงนางละเวง พระอภัยมณีให้เหตุผลว่า ถ้าได้นางก็จะได้เมืองด้วย โดยไม่ต้องเสียทหารในการรบ ดังคำกลอน “วิสัยพี่ชำนาญแต่การปาก มิให้ยากพลไพร่ใช้หนังสือ” ซึ่งสุดท้ายก็ทำสำเร็จสมประสงค์ 

5. ตัวละครเอกผู้ชายฝ่ายเมืองผลึก คือพระอภัยมณี ศรีสุวรรณ สินสมุทร สุดสาคร ถูกฝ่ายนางละเวงทำเสน่ห์ จนหนีกองทัพเข้าไปอยู่กินกับผู้หญิงฝ่ายเมืองลังกา ศรีสุวรรณกับนางรำภาสะหรี สินสมุทรกับนางยุพาผกา สุดสาครกับนางสุลาลีวัน ทิ้งให้กองทัพฝ่ายเมืองผลึกอยู่ในความควบคุมของ นางสุวรรณมาลี นางเสาวคนธ์และหัสไชย เหตุการณ์ตอนนี้เป็นทั้งสงครามรักและสงครามรบ

6. สงครามทั้งสองฝ่ายพัวพันกันจนยุ่งเหยิง บุคคลสำคัญที่มาหย่าทัพให้กษัตริย์ทั้งหมดสามัคคีกันคือ พระโยคีแห่งเกาะแก้วพิสดาร เสร็จศึกลังกาแล้ว พระอภัยมณีได้จัดการอภิเษกสินสมุทรกับนางอรุณรัศมี และสู่ขอนางเสาวคนธ์ให้กับสุดสาคร แต่นางเสาวคนธ์ไม่ยอมอภิเษกด้วย เพราะนางโกรธที่สุดสาครมีเมียฝรั่ง คือนางสุลาลีวัน นางจึงปลอมตัวเป็นฤาษี ชื่อพระอัคนีแล่นเรือไปยังเมืองวาหุโลม ทำสงครามชนะเจ้าวาหุโลมและได้ครองเมือง ฝ่ายสุดสาครติดตามมาจนถึงเกาะค้างคาว ได้เรียนอุปเท่ห์สตรีจากเฒ่าที่เกาะ พอเข้าเมืองวาหุโลมก็ได้นางเสาวคนธ์ตามที่ปรารถนา

เนื้อเรื่องตอนที่ 4 ปิดเรื่อง

  •        การศึกครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างพ่อแม่กับลูก ฝ่ายเมืองลังกามีผู้นำคือ มังคลา ซึ่งเป็นโอรส พระอภัยมณีกับนางละเวง วลายุดา วายุพัฒ หัสกัน โอรสของศรีสุวรรณ สินสมุทร สุดสาคร ตามลำดับ ฝ่ายเมืองผลึกประกอบด้วยเมืองผลึก เมืองรมจักร เมืองการะเวก รวมทั้งนางละเวง นางรำภาสะหรี นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันก็เข้าร่วมกับฝ่ายเมืองผลึกด้วย เพราะโกรธแค้นโอรสของตัวเองที่รบกับบิดาและวงศาคณาญาติ ต้นเหตุของสงครามก็คือ เมื่อมังคลาขึ้นครองเมืองแทนนางละเวง พระสังฆราชยุให้มังคลาไปแย่งโคตรเพชรของเมืองลังกา ซึ่งนางเสาวคนธ์ขอนางการะเวกไปกลับคืนมา แต่นี่เป็นเพียงแต่ข้ออ้างเท่านั้น เพราะมังคลาส่งกองทัพไปโจมตีทั้งเมืองการะเวก เมืองผลึกและเมืองรมจักรในเวลาเดียวกัน พอดีช่วงเวลานั้น พระอภัยมณี ศรีสุวรรณ สินสมุทร ไปทำศพท้าวสุทัศน์ที่เมืองรัตนา ส่วนสุดสาครและนางเสาวคนธ์ยังไม่ได้กลับเข้าเมืองการะเวก ฝ่ายมังคลาจึงจับนางสุวรรณมาลีและธิดาคือสร้อยสุวรรณ จันทร์สุดา รวมทั้งท้าวทศวงศ์และนางเกษราไปขังไว้ที่เมืองลังกา เมื่อทราบข่าวร้ายพระอภัยมณี ศรีสุวรรณ สินสมุทรก็รีบยกทัพไปเมืองลังกาสมทบกับสุดสาคร และนางเสาวคนธ์ ฝ่ายนางละเวงเข้าร่วมกับฝ่าย พระอภัยมณีทำสงครามกับโอรสของตน สุดท้ายฝ่ายลูกก็สู้พ่อแม่ไม่ได้ เลยหลบหนีไป  เมื่อเหตุการณ์สงบเรียบร้อยแล้ว ศรีสุวรรณก็กลับไปครองรมจักร หัสไชยได้อภิเษกกับสร้อยสุวรรณจันทร์สุดาและกลับไปครองเมืองการะเวก สินสมุทรครองเมืองผลึก สุดสาครครองเมืองลังกา ส่วนพระอภัยมณีโกรธนางสุวรรณมาลีีและนางละเวงในการที่ไม่ปรองดองกัน จึงออกบวชเป็นฤาษี นางสุวรรณมาลีและนางละเวงจึงออกบวชเป็นชี มาคอยรับใช้พระอภัยมณีที่เขาสิงคุตร

เรื่องย่อพระราชพิธีสิบสองเดือน

สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยนั้น อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ เป็นหลักสำคัญของชาติ และทรงไว้ซึ่งพระราชภาระทำนุบำรุงบ้านเมือง กิจหนึ่งซึ่งมีความสำคัญที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงปฎิบัติในแต่ละเดือน คือพระราชพิธีทั้งปวง หรือที่เรียกกันว่า พระราชพิธีสิบสองเดือน

พระราชพิธีที่ปฎิบัติประจำในแต่ละเดือน เป็นมูลเหตุให้สังคมไทยที่ยึดมั่นในพระมหากษัตริย์ และเป็นสังคมที่มีพุทธศาสนาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต รับพิธีกรรมเหล่านี้ไว้เป็นประเพณี และวิถีทางการดำเนินชีวิตที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา บางพระราชพิธีเป็นประเพณีมาแต่ดึกดำบรรพ์ บางพิธีอิงกับศาสนาพราหมณ์ พิธีกรรมและพระราชพิธีสิบสองเดือนนี้แตกย่อยไปอีกมากมาย ปะปนกับชีวิตของชาวบ้านจนบางครั้ง บางประเพณีจัดและปฎิบัติกันจนเป็นปกติวิสัย ทั้งนี้ความมุ่งหมายและความสำคัญของการปฎิบัติพระราชพิธีสิบสองเดือนในสมัยโบราณนั้น ก็เพื่อแผ่พระเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่ประจักษ์ และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่พระนคร และอาณาประชาราษฏร์ รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั้นทางจิตใจให้กับสังคมในยุคนั้นด้วย

แต่เดิมแต่เดิมนั้น การพระราชพิธีสิบสองเดือน มีหลักฐานปรากฎอยู่ในพระราชกำหนดกฎมณเฑียรบาล ซึ่งตราไว้ตั้งแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี นอกจากนี้ยังได้มีบันทึกในโคลงทวาทศมาส ซึ่งกรมพระยาบำราบปรปักษ์ฯ ทรงนิพนธ์ไว้ ต่อมาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชนิพนธ์ความเรียงอธิบายเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน และนิยมใช้เป็นเนื้อเรื่องวาดเขียนลงบน ฝาฝนังตามวัดต่างๆ ในสมัยรัตนโกสินทร์

  • พระราชพิธีตรียัมปวาย
    เป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ในช่วงปีใหม่ มีการทำบุญตรุษเปลี่ยนปี ซึ่งถือกันว่าพระอิศวรและพระนารายณ์ลงมาเยี่ยมโลก พิธีนี้จะเริ่มกระทำตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือนยี่ ที่เทวสถาน ประกอบด้วยการโล้ชิงช้า โดยพระยายืนชิงช้าซึ่งสมมุติว่าเป็นองค์พระอิศวร และพระนารายณ์ ทั้งยังมีการบำเพ็ญพระราชกุศลในพุทธศาสนาด้วย
  • การพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน
    พระราชพิธีนี้เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 3 เหตุเพราะชาวจีนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ได้นำสิ่งของมาถวาย จึงทรงคิดการพระราชกุศลขึ้น มีการถวายสิ่งของแด่พระสงฆ์ ทั้งเครื่องเซ่นอย่างจีน ถวายพระพุทธรูป และถวายภัตตาหารเป็นขนมจีน เป็นอาทิ
  • พระราชพิธีเกศากันต์หรือการโกนจุก
    เป็นการมงคลแก่เด็กซึ่งนิยมไว้จุก เปีย แกละ ก่อนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ กระทำในช่วงตรุษหรือสัมพัจฉฉินท์ ในช่วงตั้งแต่แรม 11 ค่ำ เดือน 4 ไปจนแรม 14 ค่ำ มีเขาไกรลาศทำด้วยศิลาเป็นปริมณฑลพิธี ทั้งยังมีการพระราชกุศล ทางพุทธศาสนาด้วย
  • พระราชพิธีสงกรานต์
    แต่เดิมกรุงสยามถือเอาเดือน 5 เป็นเดือนขึ้นศักราชใหม่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และถือเป็นพระราชพิธีใหญ่ มีการตั้งเครื่องบูชาพระพุทธรูปด้วยการถวายข้าวบิณฑ์ มีการก่อพระเจดีย์ทราย การขนทรายเข้าวัด ซึ่งเดิมถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า แต่ก็เป็นการบำรุงพระพุทธศานาด้วย ทีการพระราชกุศล เช่น มีการสรงน้ำพระในพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น
  • พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล
    เป็นพระราชพิธีซึ่งควบคู่กัน และผสมผสานทั้งพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ถือเป็นการมงคลก่อนการเพาะปลูก และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกร โดยพระมหากษัตริย์จะเสด็จมาทรงเป็นองค์ประธาน มีการแรกนาโดยพระยาแรกนา และให้พระโคเสี่ยงทาย เพื่อทำนายถึงความบริบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร
  • การพระราชกุศลสลากภัต
    ในสยามนั้น ช่วงเดือนนี้เป็นช่วงที่พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ จึงมีการบำเพ็ญกุศล ด้วยการนำภัตตาหารไปถวายพระ โดยการให้มีผู้จับสลากรายนามของพระสงฆ์ เมื่อจับได้ชื่อพระสงฆ์รูปใด ก็นำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์รูปนั้น พระราชพิธีนี้มีที่มาจากคัมภีร์จุลวรรค เมื่อครั้งพุทธกาล
  • พระราชพิธีเข้าพรรษา
    ในสมัยพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบัญญัติห้ามพระภิกษุสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ ในช่วงเข้าพรรษา เพราะอาจเหยียบข้าวกล้าในไร่นาให้เสียหายได้ ซึ่งจะมีการบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายเครื่องอัฐบริขารแด่พระสงฆ์ มีพิธีบวชนาคหลวงในระหว่างวันขึ้น 5 ค่ำ ถึง 12 ค่ำ ก่อนการเข้าพรรษา และให้นาคหลวงโปรยทานในพิธีทรงผนวชด้วย
  • การพระราชกุศลเสด็จถวายพุ่ม
    ในเทศกาลเข้าพรรษา จะมีการเสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่มอันหมายถึง เครื่องสักการะสำหรับเข้าพรรษาแด่พระสงฆ์ รวมทั้งสักการะพระพุทธรูป และพระบรมอัฐิของบูรพกษัตริย์ในพระบรมมหาราชวัง บางคราวเจ้านายฝ่ายใน จะเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องสักการะ และเป็นผู้นำไปถวาย
  • พระราชพิธีสารท
    ในพระราชพิธีสารท จะมีขึ้นราวๆ ปลายเดือน 10 เดิมนั้นเป็นพิธีในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งในสมัยต่อมาก็มีธรรมเนียมการกวนข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาส โดยพระเจ้าลูกเธอฝ่ายในทรงเป็นผู้กวน ธรรมเนียมการกวนข้าวทิพย์นี้มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล และถือปฎิบัติกันมาในประเพณีทางพุทธศาสนาด้วย
  • พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน
    ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 11 พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จไปถวายผ้าพระกฐิน ซึ่งหมายถึง ผ้าที่สำเร็จขึ้นได้เพราะอาศัยกฐิน คือกรอบไม้สำหรับขึงผ้าเย็บจีวรของพระภิกษุ จะมีการเสด็จพระราชดำเนินทั้งทางสถลมารค และชลมารค ไปถวายผ้าพระกฐินยังอารามหลวงต่างๆ
  • พระราชพิธีจองเปรียง ลอยพระประทีป
    ในช่วงเดือน 12 ใยสยามเป็นช่วงน้ำหลาก พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จลงประพาสลำน้ำในเวลาค่ำ เพื่อลอยพระประทีป หรือกระทงหลวง ซึ่งประดิษฐ์เป็นรูปสัตว์ต่างๆ อย่างงดงาม มีพระราชกุศลต่างๆ ในเวลากลางวัน ในวันขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 12
  • การพระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้อง
    ในช่วงเดือนอ้าย ซึ่งเป็นช่วงที่กุ้งในแม่น้ำนั้นบริบูรณ์ จึงมีการปรุงขนมเบื้องโดยเกณฑ์ฝ่ายใน ท้าวนางและเจ้าจอมทั้งหลายเป็นผู้ปรุง โดยขนมเบื้องนั้นจะนำไปถวายพระสงฆ์ผู้ใหญ่ เช่น พระบรมศานุวงค์ที่ทรงผนวช และพระราชาคณะ พระราชพิธีนี้ไม่มีกำหนดวันแน่นอน

เรื่องย่อสามก๊ก

สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1

  •        ภายหลังจากที่พระเจ้าฮั่นโกโจ ได้สถาปนาราชวงศ์ฮั่นจนมีการสืบทอดราชวงศ์มามากกว่าสี่ร้อยปี ในยุคสมัยของพระเจ้าเลนเต้เกิดการขัดแย้งกันเองภายในราชวงศ์ฮั่นจนถึงการแย่งชิงอำนาจและราชสมบัติ พระเจ้าเลนเต้ไม่ทรงตั้งตนในทศพิธราชธรรม ขาดความเฉลียวฉลาด เชื่อแต่คำของเหล่าสิบขันทีเหล่าขุนนางถืออำนาจขูดรีดราษฏรจนได้รับความเดือดร้อนไปทั่ว โจรผู้ร้ายชุกชุมปล้นสะดมไปทั่วแผ่นดิน ดังจดหมายเหตุของจีนตอนหนึ่งได้บันทึกไว้ว่า “ขุนนางถือราษฏรดั่งหนึ่งอริราชศัตรู ขูดรีดภาษาอากรโหดร้ายยิ่งกว่าเสือ” เกิดกบฎชาวนาหรือกบฎโจรโพกผ้าเหลืองนำโดยเตียวก๊ก หัวหน้ากลุ่มโจรโพกผ้าเหลืองออกปล้นชิงเมืองต่าง ๆ จนเกิดความวุ่นวายไปทั่วราชสำนัก แตกแยกแผ่นดินเป็นก๊กเป็นเหล่าจำนวนมาก
  •        เล่าปี่ กวนอูและเตียวหุย สามพี่น้องร่วมคำสาบานในสวนท้อต่างชักชวนเหล่าราษฏรจัดตั้งเป็นกองทัพร่วมกับทหารหลวง ออกต่อสู้และปราบโจรโพกผ้าเหลืองได้สำเร็จ เล่าปี่ได้ความดีความชอบในการปราบกบฎโจรโพกผ้าเหลืองเป็นแค่เพียงนายอำเภออันห้อกวน กวนอูและเตียวหุยไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ๆ เป็นแค่เพียงทหารม้าถือเกาฑัณฑ์ระวังภัยแก่เล่าปี่ ภายหลังพระเจ้าเลนเต้สวรรคต เกิดการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างพระราชโอรสทั้งสองพระองค์แต่ต่างพระชนนี พระเจ้าหองจูเปียนได้สืบทอดราชสมบัติโดยมีพระนางโฮเฮาผู้เป็นมารดาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่ในราชสำนักคงเกิดความวุ่นวายจากเหล่าขันทีทั้งสิบ
  •        โฮจิ๋นผู้เป็นพระเชษฐาของพระนางโฮเฮาจึงวางอุบายให้ตั๋งโต๊ะมาช่วยกำจัดเหล่าขันที แต่ข่าวการกำจัดสิบขันทีเกิดรั่วไหล โฮจิ๋นกลับถูกลวงไปฆ่าทำให้เหล่าทหารของโฮจิ๋นยกกำลังเข้าวังหลวงเพื่อแก้แค้นจนเกิดจลาจลขึ้น ภายหลังตั๋งโต๊ะยกทัพมาถึงวังหลวงและใช้กลยุทธ์ตีชิงตามไฟฉวยโอกาสในขณะที่เกิดความวุ่นวายยึดอำนาจมาเป็นของตน สั่งถอดพระเจ้าหองจูเปียนและปลงพระชนม์ และสถาปนาพระเจ้าหองจูเหียบขึ้นแทน ทรงพระนามว่าพระเจ้าเหี้ยนเต้ และสถาปนาตนเองเป็นพระมหาอุปราช มีฐานะเป็นบิดาบุญธรรมของพระเจ้าเหี้ยนเต้
  •        ตั๋งโต๊ะถืออำนาจเป็นใหญ่ในราชสำนัก สั่งประหารผู้ที่ไม่เห็นด้วยกันตนเองจนเหล่าขุนนางพากันโกรธแค้น โจโฉพยายามลอบฆ่าตั๋งโต๊ะแต่ไม่สำเร็จจนต้องหลบหนีไปจากวังหลวงและลอบปลอมแปลงราชโองการ นำกำลังทัพจากหัวเมืองต่าง ๆ มากำจัดตั๋งโต๊ะ แต่กองทัพหัวเมืองกลับแตกแยกกันเองจึงทำให้การกำจัดตั๋งโต๊ะล้มเหลว อ้องอุ้นจึงวางกลยุทธ์สาวงามยกเตียวเสี้ยนบุตรสาวบุญธรรมให้แก่ตั๋งโต๊ะและลิโป้บุตรบุญธรรม จนตั๋งโต๊ะผิดใจกับลิโป้เรื่องนางเตียวเสี้ยน ทำให้ลิโป้แค้นและฆ่าตั๋งโต๊ะ หลังจากตั๋งโต๊ะตาย ลิฉุยและกุยกีได้เข้ายึดอำนาจอีกครั้งและฆ่าอ้องอุ้นตาย รวมทั้งบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้อยู่ภายใต้อำนาจ สร้างความคับแค้นใจให้แก่พระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นอย่างยิ่ง จนมีรับสั่งให้เรียกโจโฉมาช่วยกำจัดลิฉุย กุยกีและเหล่าทหาร
  •        โจโฉเข้าปราบปรามกบฎและยึดอำนาจในวังหลวงไว้ได้ แต่เกิดความกำเริบเสิบสานทะเยอทะยานถึงกับแต่งตั้งตนเองเป็นมหาอุปราช ควบคุมพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้อยู่ภายใต้อำนาจอีกครั้ง ข่มเหงรังแกเหล่าขุนนางที่สุจริต พระเจ้าเหี้ยนเต้เกิดความคับแค้นใจจึงใช้พระโลหิตเขียนสาสน์ลับบนแพรขาวซ่อนไว้ในเสื้อ พระราชทานแก่ตังสินเพื่อให้ช่วยกำจัดโจโฉ โดยมีตังสินเป็นผู้รวบรวมเหล่าขุนนางที่จงรักภักดีคิดกำจัดโจโฉแต่ถูกจับได้ทำให้เหล่าขุนนางถูกฆ่าตายหมด ความอสัตย์ของโจโฉแพร่กระจายไปทั่วทำให้บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ พากันแข็งข้อไม่ยอมขึ้นด้วย โจโฉจึงนำกำลังยกทัพไปปราบปรามได้เกือบหมด แต่ไม่สามารถปราบปรามเล่าปี่และซุนกวนได้
  •        เล่าปี่เป็นเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นมีศักดิ์เป็นอาของพระเจ้าเหี้ยนเต้ที่มีความยากจนอนาถา มีคนดีมีฝีมือไว้เป็นทหารหลายคนแต่มีกำลังไพร่พลน้อย ทำให้ต้องคอยหลบหนีศัตรูอยู่เสมอไม่อาจเป็นใหญ่ในแผ่นดินได้ จนได้พบกับตันฮกซึ่งต่อมากลายเป็นที่ปรึกษากองทัพแก่เล่าปี่ ภายหลังตันฮกถูกเทียหยกและโจโฉวางกลอุบายแย่งชิงตัวไปจากเล่าปี่ ก่อนจากไปตันฮกได้ให้เล่าปี่ไปเชิญขงเบ้งมาเป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยวางแผนกำลังรบ เล่าปี่ไปเชิญขงเบ้งที่กระท่อมหญ้าถึงสามครั้งจึงได้ขงเบ้งมาเป็นที่ปรึกษาให้แก่กองทัพ และสามารถตั้งตนเป็นใหญ่ในเมืองเสฉวนได้ สำหรับซุนกวนเป็นเจ้าเมืองกังตั๋งโดยการสืบสกุล เป็นเจ้าเมืองที่มีศีลธรรม ปกครองบ้านเมืองด้วยความยุติธรรมจึงเป็นที่เคารพนับถือและยอมสวามิภักดิ์มากมาย ทั้งสามฝ่ายต่างทำศึกสงครามกันตลอด แต่ก็ไม่อาจเอาชนะซึ่งกันและกันได้

สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2

  •        โจโฉตั้งตนเป็นใหญ่ในดินแดนทางภาคเหนือ ปกครองแคว้นวุยซึ่งเป็นแคว้นใหญ่สุด มีกำลังทหาร ที่ปรึกษาและกองทัพที่แข็งแกร่ง ซุนกวนตั้งตนเป็นใหญ่ทางดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ปกครองแคว้นง่อเริ่มจากบริเวณปากแม่น้ำแยงซีเกียง มีกองกำลังทหารจำนวนมาก และเล่าปี่ปกครองดินแดนทางภาคตะวันตก ปกครองแคว้นจ๊ก ซึ่งต่างคานอำนาจซึ่งกันและกัน เป็นพันธมิตรและศัตรูกันมาตลอด โดยร่วมทำศึกสงครามระหว่างแคว้นหลายต่อหลายครั้งเช่นศึกเซ็กเพ็กซึ่งเป็นการร่วมทำศึกสงครามระหว่างซุนกวนและเล่าปี่ในการต่อต้านโจโฉ , ศึกหับป๋าที่เป็นการทำศึกระหว่างซุนกวนและโจโฉ,ศึกด่านตงก๋วนที่เป็นการทำศึกระหว่างโจโฉและม้าเฉียวเป็นต้น และเมื่อโจโฉตาย โจผีบุตรชายขึ้นครองราชสมบัติแทน สั่งปลดพระเจ้าเหี้ยนเต้และสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ ทรงพระนามว่าพระเจ้าเหวินตี้ ก่อตั้งราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์วุย
  •        เล่าปี่ซึ่งเป็นเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นก็สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิสืบทอดราชวงศ์ฮั่น โดยใช้เมืองเสฉวนเป็นเมืองหลวง ซุนกวนซึ่งไม่ยอมขึ้นกับพระเจ้าโจผีหรือเล่าปี่จึงตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิ ปกครองเมืองกังตั๋ง ทำให้ประเทศจีนในขณะนั้นแตกแยกออกเป็นสามอาณาจักรหรือที่เรียกขานกันว่าสามก๊กได้แก่ฝ่ายจ๊กก๊กของเล่าปี่ วุยก๊กของโจผีและง่อก๊กของซุนกวน ภายหลังจากเล่าปี่สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าฮันต๋ง ได้ให้กวนอูไปกินตำแหน่งเจ้าเมืองเกงจิ๋ว ซึ่งแต่เดิมเป็นของซุนกวน และโลซกรับเป็นนายประกันให้แก่เล่าปี่ขอยืม โดยจะยินยอมคืนเกงจิ๋วให้เมื่อตีได้เสฉวน ซุนกวนพยายามเป็นพันธมิตรต่อกวนอูด้วยการสู่ข่อบุตรสาวของกวนอูเพื่อผูกสัมพันธ์ แต่กวนอูปฏิเสธการสู่ขอของจูกัดกิ๋นซึ่งรับเป็นเถ้าแก่มาเจรจาสู่ขอ จนกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญให้ซุนกวนเป็นพันธมิตรต่อโจโฉ และนำกำลังทหารมาโจมตีเกงจิ๋วจนกวนอูพลาดท่าเสียทีลกซุนและลิบองด้วยกลยุทธ์ปิดฟ้าข้ามทะเลจนเสียชีวิต
  •        การเสียชีวิตของกวนอู เป็นเหตุให้พระเจ้าเล่าปี่นำกำลังทหารไปโจมตีง่อก๊กเพื่อล้างแค้น และเป็นเหตุให้เตียวหุยเสียชีวิตในเวลาต่อมา พระเจ้าเล่าปี่ถูกลกซุนเผาค่ายทหารย่อยยับจนแตกพ่ายกลับเสฉวน และสิ้นพระชมน์ในเวลาต่อมา ขงเบ้งเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของพระเจ้าเล่าปี่ในการรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่ง โดยเปิดศึกกับแคว้นวุยมาโดยตลอด รวมทั้งทำศึกสงครามกับเบ้งเฮ็กผู้ปกครองดินแดนทางใต้ พระเจ้าโจผี พระเจ้าเล่าปี่และพระเจ้าซุนกวนสวรรคต เชื้อสายราชวงศ์เริ่มอ่อนแอ สุมาเจียวซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นมหาอุปราชของวุยก๊ก สามารถเอาชนะจ๊กก๊กและควบคุมตัวพระเจ้าเล่าเสี้ยนมาเป็นเชลยได้สำเร็จ หลังจากสุมาเจียวตาย สุมาเอี๋ยนบุตรชายสืบทอดตำแหน่งแทนและช่วงชิงราชสมบัติของวุยก๊กมาจากพระเจ้าโจฮวนและแต่งตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิ ก่อตั้งราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์จิ้น พระเจ้าสุมาเอี๋ยนสามารถปราบพระเจ้าซุนโฮแห่งง่อก๊กให้ยินยอมสวามิภักดิ์ได้สำเร็จ แผ่นดินจีนที่เคยแตกแยกออกเป็นก๊กเป็นเหล่ามายาวนาน กลับรวมกันเป็นอาณาจักรเดียวได้ดั่งเดิม

เรื่องย่อลิลิตตะเลงพ่าย

หากท่านต้องการทราบเพียงเรื่องย่อโดยรวมท่านสามารถติดตามได้ตามลิ้งนี้ค่ะ

เรื่องโดยย่อลิลิตตะเลงพ่าย

เนื้อเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย แบ่งออกเป็น ๑๒ ตอน ดังนี้

ตอนที่ ๑ เริ่มบทกวี

  •        ประกอบด้วยร่ายสุภาพ ๑ บท และโคลงสี่สุภาพ ๓ บท กล่าวถึงพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ เป็นการยอพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่าชนะราชศัตรู พระเกียรติยศ แผ่ไปทั่วแผ่นฟ้าแผ่นดิน กษัตริย์ทุกทิศ ทุกประเทศต่างก็มาสวามิภักดิ์ ถวายบ้านเมือง ของตนมาเป็นเมืองขึ้น กรุงศรีอยุธยามั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ ประชาชนอยู่อย่างร่มเย็น เป็นสุขทั่วหน้า พระเกียรติยศแผ่เลื่องลือเป็นที่สรรเสริญทั่วโลก

ตอนที่ ๒ เหตุการณ์ทางเมืองมอญ 

  •        กล่าวถึงพระเจ้ากรุงหงสาวดี กษัตริย์พม่าขณะนั้น ทรงทราบข่าวว่าพระมหาธรรมราชาสวรรคต ทรงคาดว่าพระราชโอรสทั้งคู่ คือ พระนเรศวร และพระเอกาทศรถจะต้องแย่งชิงราชสมบัติกัน เห็นเป็นโอกาสดีที่จะยกกองทัพมาตีไทย จึงมีรับสั่งให้พระมหาอุปราชา
  •        นําทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พระมหาอุปราชากราบทูลว่าโหรทํานายว่าพระองค์กำลังมีเคราะห์ถึงฆา พระเจ้านันทบุเรงก็ตรัสประชดว่า ถ้าพระมหาอุปราชาเกรงจะมีเคราะห์ร้าย ก็ให้เอาเสื้อผ้าผู้หญิงมาสวมจะได้สิ้นเคราะห์ พระมหาอุปราชาได้ฟังคําเยาะเย้ยของพระราชบิดาว่าพระองค์ขลาด ดังสตรีเช่นนั้น ก็ทรงอับอายบรรดาอํามาตย์ข้าราชการทั้งหลาย ทั้งเกรงพระราชอาญา จึงเกิดขัตติยมานะรับอาสายกกองทัพมาตีไทย
  •        พระเจ้ากรุงหงสาวดีจึงประกาศเกณฑ์พลเมืองเชียงใหม่ และเมืองขึ้น ทั้งหลายมารวมกันที่ กรุงหงสาวดี เมื่อกองทัพพร้อมแล้วจะเคลื่อนทัพ ในตอนเช้า คืนนั้นพระมหาอุปราชาเสด็จไปล่ำลา พระสนมจนเวลารุ่งสว่าง แล้วเสด็จเข้าไปกราบทูลลาพระราชบิดา
  •        พระเจ้ากรุงหงสาวดีพระราชทานพรให้ได้ชัยชนะ และพระราชทานพระบรมราโชวาท ๘ ประการ คือ

๑. มองสิ่งใดให้ลึกซึ้ง อย่าหูเบา
๒. อย่าทําอะไรตามใจชอบ โดยไม่คิดถึงใจผู้อื่น
๓. ให้เอาใจทหารให้มีกำลังใจฮึกเหิม กล้าหาญในการสู้รบเสมอ
๔. อย่าไว้ใจคนขลาดและคนเขลา
๕. ควรรอบรู้ในการจัดกระบวนทัพทุกรูปแบบ
๖. รู้หลักพิชัยสงคราม การตั้งค่าย
๗. รู้จักปูนบําเหน็จความดีความชอบแก่แม่ทัพนายกองที่เก่งกล้าสามารถ
๘. มีความเพียรพยายามอย่าได้เกียจคร้าน

ตอนที่ ๓ พระมหาอุปราชายกทัพเข้าเมืองกาญจนบุรี

  •        พระมหาอุปราชายกกองทัพผ่านด่านเจดีย์สามองค์ ซึ่งเป็นเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า ระหว่างที่เดินทัพเข้ามาในเขตแดนไทยนั้น พระมหาอุปราชาก็คร่ำครวญคิดถึงนางอันเป็นที่รักมาโดยตลอดทาง
  •        ฝ่ายเมืองกาญจนบุรีเมื่อได้ทราบข่าวศึก จึงให้อพยพผู้คนไปซุกซ่อนอยู่ในป่าคอยสืบข่าวเหตุการณ์ฝ่ายข้าศึก และทำหนังสือไปกราบทูลให้สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบ
  •        พระมหาอุปราชาให้เคลื่อนกองทัพมาทางลำกระเพิน ให้พระยาจิตตองเป็นแม่กองทำสะพานเรือกไม้ไผ่ข้ามลำน้ำ กองทัพมาถึงเมืองกาญจนบุรีพบแต่เมืองร้าง พระมหาอุปราชาประทับแรมที่เมืองกาญจนบุรี ๑ คืน แล้วเดินทัพมาถึงตําบลพนมทวน เกิดลมเวรัมภาพัดฉัตรหัก โหรทั้งหลายต่างรู้ว่าเป็นเหตุร้าย แต่ไม่กล้าทูลตามตรง ทูลแต่สิ่งดี ๆ เพื่อกลบเกลื่อนว่า ถ้าเกิดในเวลาเช้าย่อมชั่วร้าย แต่ถ้าเกิดในช่วงเย็นย่อมดี ขอพระองค์อย่าขุ่นเคืองทุกข์ใจไปเลย จะทรงมีลาภปราบศัตรูข้าศึกไทยได้แน่นอน  พระมหาอุปราชาไม่เชื่อคำทำนาย ทรงนึกหวั่นวิตกว่าจะแพ้กองทัพไทยทรง ครํ่าครวญถึงพระบิดาว่า ถ้าพระองค์สิ้นพระชนม์ในการสงคราม พระบิดาจะได้ใครช่วยเหลือต่อไป
  •        ทางฝ่ายไทย เจ้าเมืองสิงห์บุรี สวรรค์บุรี สุพรรณบุรี ทราบข่าวศึกให้ชาวเมืองอพยพครอบครัวหนีไปอยู่ในป่า แล้วทําหนังสือมากราบทูลสมเด็จพระนเรศวรให้ทรงทราบข่าวศึก

ตอนที่ ๔ สมเด็จพระนเรศวรทรงปรารภเรื่องตีเมืองเขมร

  •        ทางกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงปกครองแผ่นดินด้วย ความเป็นธรรม ราษฎรอยู่ร่มเย็นเป็นสุขกันทั่วหน้า พระองค์ปรารภเรื่องจะไปตีกัมพูชา แต่ทรงเป็นห่วงศึกฝ่ายพม่าจะกลับมาทำสงครามอีก จึงโปรดให้พระยาจักรีเป็นผู้ดูแล    พระนครระหว่างที่พระองค์ไม่อยู่ พอดีทูตจากเมืองกาญจนบุรีเข้ามาแจ้งข่าวศึกว่า พม่ากำลังยกกองทัพเข้ามาตีไทย สมเด็จพระนเรศวรทรงดีพระทัยมากที่จะได้ทำศึกกับพม่า จึงได้เล่าเรื่องข่าวศึกให้สมเด็จพระเอกาทศรถทราบทุกประการ

ตอนที่ ๖ พระนเรศวรทรงตรวจเตรียมทัพ

  •        สมเด็จพระนเรศวร ให้โหรหาฤกษ์ยามดีเพื่อเคลื่อนพลไปรบ หลวงญาณโยคโลกทีป โหรหลวงถวายคำพยากรณ์ทูลว่า พระองค์ได้จตุรงคโชค ให้เสด็จเคลื่อนทัพในวันอาทิตย์ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือนยี่ เวลา ๘ นาฬิกา ๓๐ นาที เมื่อได้มงคลฤกษ์จึงเคลื่อนทัพ พระองค์เสด็จทางชลมารคไปขึ้นบกประทับแรมที่ปากโมก จังหวัดอ่างทอง ทรงปรึกษาเหล่าขุนนางเรื่องการศึก จนล่วงเข้ายามสามก็เสด็จเข้าที่บรรทม ครั้นถึงเวลา ๔ นาฬิกา พระองค์ทรงสุบิน เป็นศุภนิมิตว่ามีกระแสน้ำไหลบ่ามาจากทิศตะวันตก พระองค์ได้ลุยน้ำต่อสู้กับจระเข้และได้ฟันจระเข้ตาย ทันใดนั้นกระแสน้ำ ก็เหือดแห้งหายไป โหรทูลทำนายว่าพระสุบินครั้งนี้ เกิดเพราะเทวดาสังหรณ์ให้ทราบเป็นนัยว่าน้ำซึ่งไหลท่วมป่าทางทิศตะวันตกนั้นคือกองทัพพม่า ส่วนจระเข้นั้นคือพระมหาอุปราชา การสงครามนี้้ยิ่งใหญ่ ถึงขนาดต้องกระทำยุทธหัตถี และพระองค์จะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ
  •        ในระหว่างที่คอยพิชัยฤกษ์อยู่ ทั้งสองพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุเปล่ง รังสีโชติช่วงขนาดเท่าผลส้มเกลี้ยง ลอยมาในท้องฟ้าทางทิศใต้ ลอยวนรอบกองทัพเป็นทักษิณาวรรต ๓ รอบ แล้วลอยผ่านไปทางทิศเหนือ ทั้งสองพระองค์กราบนมัสการ
  •        พระบรมสารีริกธาตุด้วยความปลาบปลื้มปิติยินดียิ่ง  สมเด็จพระนเรศวรทรงช้างไชยานุภาพ ส่วนพระเอกาทศรถทรงช้าง พลายปราบไตรจักร เสด็จเคลื่อนขบวนทัพ

 ตอนที่ 7 พระมหาอุปราชาทรงปรึกษาการศึกแล้วยกทัพเข้าปะทะหน้าของไทย

  •        ฝ่ายกองตระเวนของมอญ ซึ่งได้รับคำสั่งให้มาสืบข่าวดูกองทัพไทยซึ่งจะออกมาต่อสู้ต้านทานจะได้นำข่าวมาพระมหาอุปราชา สมิงอะคร้าน สมิงเป่อ สมิงซายม่วน พร้อมด้วยกองม้าจำนวน 500 คน ได้ไปพบกองทัพไทยตั้งค่ายรอรับอยู่ที่หนองสาหร่ายจึงรีบกลับไปทูลแด่องค์พระมหาอุปราชา พระองค์ตรัสถามนายกองทั้งสามว่าประมาณกำลังพลฝ่ายไทยประมาณเท่าใด นายกองกราบทูลว่า ประมาณสิบ – สิบแปด หมื่น ดูเต็มท้องทุ่ง พระมหาอุปราชาตรัสว่ากษัตริย์ไทยทั้งสองพระองค์ออกมารอรับทัพเป็นกองใหญ่ แต่กำลังน้อยกว่าของเรา ของเรามากกว่าหลายส่วน
  •        เราจะต้องรีบโจมตีหักเอาให้ได้ตั้งแต่แรกจะได้เบาแรง แล้วจะได้ไปล้อมกรุงศรีอยุธยาชิงเอาราชสมบัติเห็นจะได้เมืองโดยสะดวก แล้วรับสั่งให้ขุนพลเตรียมทัพให้เสร็จแต่ 3 นาฬิกา พอ 5 นาฬิกา ก็ยกไปโดยกะสว่างเอาข้างหน้า พรุ่งนี้เช้าจะได้เข้าโจมตี
  •        เสนาผู้ใหญ่ได้ทำตามรับสั่ง เมื่อถึงเวลาตีห้า พระมหาอุปราชาแต่งองค์แล้วเสด็จประทับช้างพลายพัธกอซึ่งกำลังตกมัน พระยาศรีไสยณรงค์และพระราชฤทธานนท์ เมื่อได้รับพระบรมราชโองการให้ออกโจมตีข้าศึก จึงจัดทัพพร้อมด้วยกำลังพล 5 หมื่น และจัดทัพแบบตรีเสนา คือแบ่งเป็นทัพใหญ่ 3 ทัพ
  •        แต่ล่ะทัพแยกออกเป็น 3 กอง ดังนี้

กองหน้า เจ้าเมืองธนบุรี (นายกองหน้า ปีกซ้าย)
พระยาสุพรรณบุรี ( นายกองหน้า )
เจ้าเมืองนนทบุรี (นายกองหน้า ปีกขวา)

กองหลวง เจ้าเมืองสรรคบุรี (นายกอง ปีกซ้าย)
พระยาศรีไสยณรงค์ (แม่ทัพ ขี่ช้างพลายสุรงคเดชะ)
เจ้าเมืองสิงห์บุรี (นายกอง ปีกขวา)

กองหลัง เจ้าเมืองชัยนาท (นายกองหลัง ปีกซ้าย)
พระราชฤทธานนท์ (ปลัดทัพคุมกองหลัง)
พระยาวิเศษชัยชาญ (นายกองหลัง ปีกขวา)

  •        ทัพไทยเคลื่อนออกจากหนองสาหร่ายถึงโคกเผาข้าวเวลาประมาณ 7 นาฬิกา ได้ปะทะกับทัพมอญ ทั้งสองฝ่ายได้ต่อสู้กันด้วยอาวุธชนิดเดียวกันเป็นคู่ๆ ด้วยความสามารถ ต่างฝ่ายก็ล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่เหลือก็ต่อสู้กันอย่างไม่เกรงกลัว กองทัพมอญที่ตามมามีมากขึ้น ตีโอบล้อมกองทัพไทย ฝ่ายไทยกำลังน้อยกว่า กระจายออกรับไม่ไหว จึงต้องถอยขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถก็ทรงเตรียมกำลังทหารไว้อย่างพร้อมเพรียงตั้งแต่ยังไม่

ตอนที่ 8 ทัพหน้าไทยถอยไม่เป็นกระบวน 

  •        ขณะที่พราหมณ์ผู้ทำพิธีและผู้ชำนาญไสยศาสตร์ ทำพิธีเบิกประตูป่าและพิธีละว้าเซ่นไก่ หลวงมหาวิชัยรับพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ ไปทำพิธีตัดไม้ข่มนามตามไสยศาสตร์ สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงสดับเสียงปืนซึ่งไทยกับมอญกำลังยิงต่อสู้กันอยู่ แต่เสียงนั้นอยู่ไกลฟังไม่ถนัด จึงรับสั่งให้หมื่นทิพเสนารีบไปสืบข่าว หมื่นทิพเสนาขึ้นม้าไปอย่างรวดเร็ว ถึงกองทัพไทยที่กำลังล่าถอย รับพลางถอยพลาง มอญตามมาอย่างกระชั้นชิด หมื่นทิพเสนาได้นำขุนหมื่นผู้หนึ่งมาเฝ้าสมเด็จพระนเรศวร ขุนหมื่นผู้นั้นกราบทูลว่า เมื่อเวลา 7 นาฬิกา ทัพไทยได้ปะทะกับทัพมอญที่ตำบลโคกเผาข้าว ทัพไทยต้องถอยร่นอยู่ตลอดเวลา เพราะกำลังข้าศึกมีมากกว่า สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสปรึกษาแม่ทัพนายกองว่าควรคิดหาอุบายแก้ไขการศึกษาอย่างไร บรรดาแม่ทัพนายกองกราบทูลขอให้พระองค์ส่งทัพไปยันไว้ ให้ข้าศึกอ่อนกำลังลงก่อนจึงเสด็จยกทัพหลวงออกต่อสู้ภายหลัง สมเด็จพระนเรศวรตรัสตอบว่า “ทัพไทยกำลังแตกพ่ายอยู่ ถ้าจะส่งทัพไปต้านทานอีก ก็จะพลอยแตกอีกเป็นครั้งที่ 2 ควรที่ล่าถอยลงมาโดยไม่หยุดยั้ง เพื่อลวงข้าศึกให้ละเลิงใจ ยกติดตามมาไม่เป็นขบวนพอได้ทีให้ยกกำลังส่วนใหญ่ออกโจมตี ก็คงจะได้ชัยชนะอย่างง่ายดาย” แม่ทัพนายกองเห็นชอบด้วยกับพระราชดำรินั้น สมเด็จพระนเรศวรจึงมีรับสั่งให้หมื่นทิพเสนากับหมื่นราชามาตย์ไปแจ้งทัพหน้าของไทยให้ล่าถอยโดยเร็ว ทัพหน้าไทยจึงรีบถอยร่น ทัพพม่าไม่รู้กลอุบาย ก็รุกไล่ตามจนเสียกระบวน

ตอนที่ 9 ทัพหลวงเคลื่อนพล ช้างทรงพระนเรศวรและพระเอกาทศรถฝ่าเข้าไปในกองทัพข้าศึก 

  •        ขณะสมเด็จพระนเรศวรประทับบนเกย เพื่อรอพิชัยฤกษ์เคลื่อนทัพหลวง ได้บังเกิดเมฆก้อนใหญ่เย็นเยือกลอยอยู่ทางทิศ พายัพ แล้วก็กลับแลดูท้องฟ้าแจ่มกระจ่าง ดวงอาทิตย์ส่องแสงจ้าโดยไม่มีอะไรบดบัง อันเป็นนิมิตที่แสดงพระบรมเดชานุภาพและชี้ให้เห็นความมีโชคดี สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถทรงเคลื่อนพลตาม เกล็ดนาค ตามตำราพิชัยสงคราม จนปะทะเข้ากับกองทัพข้าศึก ช้างพระที่นั่งทั้งสอง คือ พระเจ้าไชยานุภาพ และ เจ้าพระยาปราบไตรจักร ได้สดับเสียง ฆ้อง กลอง และเสียงปืนของข้าศึก ก็ส่งเสียงร้องด้วยความคึกคะนอง เพราะกำลังตกมัน ควาญบังคับไว้ไม่อยู่ มันวิ่งไปโดยเร็ว จนทหารในกองตามไม่ทัน มีแต่กลางช้างและควาญช้างสี่คนเท่านั้นที่ตามเสด็จไปด้วยจนเข้าไปใกล้กองหน้าของข้าศึก ช้างศึกได้กลิ่น มัน ก็พากันตกใจหนีไปปะทะกับพวกที่ตามมาข้างหลัง ช้างทรงไล่แทงช้างของข้าศึกอย่างเมามัน ทหารพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก ข้าศึกยิงปืนเข้าใส่ แต่ไม่ถูกช้างทรง การต่อสู้เป็นแบบตะลุมบอนจนฝุ่นตลบมองหน้ากันไม่เห็น เหมือนกับเวลากลางคืน
  •        สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสประกาศแด่เทวดาทั้งหลายบนสวสรรค์ทั้งหกชั้น และพรหมทั้งสิบหกชั้นว่า ที่ให้พระองค์ท่านมาประสูตรเป็นพระมหากษัตริย์ครองราชย์สมบัติก็ด้วยหวังจะให้ทะนุบำรุงศาสนา และพระรัตนตรัยให้เจริญรุ่งเรือง เหตุใดเล่าเทวดาจึงไม่บันดาลให้ท้องฟ้าสว่างมองเห็นข้าศึกได้ชัดเจน พอดำรัสจบไม่นานก็เกิดพายุใหญ่พัดหอบเอาฝุ่นและควันหายไป ท้องฟ้าสว่างดังเดิม มองเห็นสนามรบได้ชัดเจน พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงช้างประทับยืนอยู่ใต้ต้นไม้ข่อย มีทหารห้อมล้อมและตั้งเครื่องสูงครบครัน
  •        ทั้งสองพระองค์ทรงไสช้างเข้าไปหาด้วยพระพักตร์ที่ผ่องใสไม่เกรงกลัวแม้แต่น้อย ข้าศึกยิงปืนไฟเข้ามาแต่ก็มิได้ต้องพระองค์เลย

ตอนที่ 10 ยุทธหัตถี และชัยชนะของไทย 

  •        สมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระราชดำรัสอันไพเราะไม่มีสุรเสียงขุ่นแค้นพระทัยเลยแม้แต่น้อยว่า“ ผู้ทรงเป็นใหญ่แห่งประเทศมอญ พระเกียรคิยศเลื่องลือไปไกลทั่วทั้งสิบทิศ ข้าศึกได้ยินก็เกรงพระบรมเดชานุภาพ ไม่กล้าสู้รบพากันหนีไปพระเจ้าผู้พี่ปกครองประเทศอันบริบูรณ์ยิ่ง เป็นการไม่สมควรเลยที่พระเจ้าพี่ประทับอยู่ใต้ร่มไม้ เชิญพระองค์เสด็จมาร่วมทำยุทธหัตถีร่วมกัน เพื่อแสดงเกียรคิไว้ให้เป็นที่ปรากฏ ต่อจากเราทั้งสองจะไม่มีอีกแล้ว การรบด้วยการชนช้างจะถึงที่สุดเพียงนี้ ต่อไปจะไม่ได้ไม่พบอีก การที่กษัตริย์ทำยุทธหัตถีกัน ก็คงมีแต่เราสองพี่น้อง ตราบชั่วฟ้าดินสลาย การทำยุทธหัตถีก็เปรียบประดุจการเล่นที่รื่นเริงของกษัตริย์เพื่อให้ชมเล่นเป็นขวัญตาแก่มนุษย์จนถึงเมืองสวรรค์ขอทูลเชิญเทวดาและพรหมทั้งปวงมาประชุมในสถานที่นี้เพื่อชมการยุทธหัตถี ผู้ใดเชี่ยวชาญกว่า ขอทรงอวยพรให้ผู้นั้นรับชัยชนะ หวังจะให้พระเกียรติยศในการรบครั้งนี้ดำรงอยู่ชั่วฟ้าดิน ว่ากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ได้กระทำสงครามกัน ใครรู้เรื่องก็จะได้ยกย่องสรรเสริญกันตลอดไป ”
  •        เมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ตรัสพรรณาดังนั้น พระมหาอุปราชาได้ทรงสดับก็บังเกิดขัตติยะมานะกล้าหาญขึ้น รีบไสช้างเข้าต่อสู้โดยเร็วด้วยความกล้าหาญ ช้างทรงของผู้เป็นใหญ่ทั้งสองพระองค์ เปรียบเหมือนช้างเอราวัณและช้างคิรีเมขล์อันเป็นพาหนะของวัสวดีมาร ต่างส่ายเศียรและหงายงาโถมแทงอยู่ขวักไขว่ สองกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่งามเลิศล้ำน่าชมยิ่งหนัก ประหนึ่งพระอินทร์และไพจิตราสูรทำสงครามกัน หรือไม่ก็เหมือนกับพระรามรบกับทศกัณฐ์ กษัตริย์อื่นในทุกประเทศและทุกทิศไม่เสมอเหมือน กษัตริย์แห่งกรุงสยามก็สามารถต้านพระมหาอุปราชาได้ ทั้งสองไม่ทรงเกรงกลัวกันเลย และไม่ได้ลดความห้าวหาญลงแม้แต่น้อย พระหัตถ์ก็ยกพระแสงของ้าวขึ้นกวัดแกว่งตามแบบฉบับ ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรโถมเข้าใส่ไม่ทันตั้งหลักยั้งตัว ช้างทรงของพระมหาอุปราชาได้ล่างใช้งาทั้งคู่ค้ำคางเจ้าพระยาไชยานุภาพแหงนสูงขึ้น จึงได้ทีถนัด พระมหาอุปราชาเห็นเป็นโอกาส จึงเงื้อพระแสงของ้าวจ้วงฟันอย่างแรงราวกับจักรหมุน แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงพระมาลาหลบพร้อมกับใช้พระแสงของ้าวปัดเสียทัน อาวุธของพระมหาอุปราชาจึงไม่ถูกพระองค์
  •        ทันใดนั้นช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรเบนสะบัดได้ล่าง จึงใช้งางัดคอช้างของพระมหาอุปราชาจนหงาย ช้างของพระมหาอุปราชาเสียท่าต้องถอยหลังพลาดท่าในการรบ สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงเงื้อพระแสงของ้าวฟันถูกพระมหาอุปราชาที่พระอังสาขวาขาดสะพายแล่ง
  •        พระอุระของพระมหาอุปราชาถูกฟันจนเป็นรอยแยก พระวรกายก็เอนซบอยู่บนคอช้างเป็นที่น่าสลดใจ สิ้นพระชนม์แล้วได้ไปสถิตในแดนสวรรค์ ควาญช้างของสมเด็จพระนเรศวร คือ นายมหานุภาพก็ถูกปืนข้าศึกเสียชีวิต ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถได้ทำยุทธหัตถีกับ มางจาชโร (พระพี่เลี้ยงของพระมหาอุปราชา) พระเอกาทศรถได้ใช้พระแสงของ้าวฟันถูกมางจาชโรตายซบอยู่บนหลังพลายพัชเนียรนั่นเอง และกลางช้างของพระเอกาทศรถ คือ หมื่นภักดีศวรก็ถูกปืนข้าศึกตาย
  •        ทั้งสองพระองค์รบกับข้าศึกในครั้งนี้ด้วยพระบรมเดชานุภาพ เพราะมีแค่ทหารสี่คนและพระองค์ทั้งสองเท่านั้น พระเกียรติจึงแผ่ไปไกล ทหารที่ติดตามไปตายสองและรอดกลับมาสอง
  •        กองทัพไทยติดตามมาทันเมื่อพระมหาอุปราชาขาดคอช้างแล้ว ต่างก็รีบเข้ามาช่วยรบ ฆ่าฟันทหาร พม่า มอญ ไทยใหญ่ ลาว เชียงใหม่ ตายลงจำนวนมากเหลือคณานับ ที่เหลือบุกป่าฝ่าดงหนีไป ทั้งนี้เป็นพระบรมเดชานุภาพของพระองค์โดยแท้

ตอนที่ 11 พระนเรศวรทรงสร้างสถูปและปูนบำเหน็จทหาร

  •        สมเด็จพระนเรศวรมีรับสั่งให้สร้างสถูปสวมทับที่พระองค์ทรงทำยุทธหัตถี ณ ตำบลตระพังตรุ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสืบต่อไปเสร็จศึกยุทธหัตถีแล้ว สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้เจ้าเมือง มล่วน รวมทั้งควาญช้างกลับ ไปแจ้งข่าวการแพ้สงครามและการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชาแก่พระเจ้าหงสาวดี แล้วพระองค์ก็ยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา ชื่อเสียงของกรุงศรีอยุธยาก็ลือเลื่องไปทั้งแผ่นดิน จากนั้นก็ทรงปรารภเรื่องการพระราชทานความดีความชอบแก่ พระยารามราฆพ ( กลางช้างของพระนเรศวร )และ ขุนศรีคชคง ( ควาญช้างของพระเอกาทศรถ ) โดยพระราชทานบำเหน็จ เครื่องอุปโภค เงิน ทอง ทาส และเชลยให้แล้วก็พระราชทานบำนาญแก่บุตรภรรยาของ นายมหานุภาพ และ หมื่นภักดีศวร ที่เสียชีวิตในสงครามให้สมกับความดีความชอบและที่มีความภักดีต่อพระองค์ ต่อมาก็ทรงปรึกษาโทษแม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จไม่ทันตามกฎของพระอัยการศึกว่า ในการที่ข้าศึกยกทัพเข้ามาเหยียบแดนถึงชานพระนคร พระองค์และพระเอกาทศรถทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำนุบำรุงเหล่าสมณพราหมณ์และประชาราษฎรมิได้ย่อท้อต่อความยากลำบาก ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จออกไปปราบอริราชศัตรู แต่แม่ทัพนายกองทั้งปวงกลับกลัวข้าศึกยิ่งกว่าพระอาญา ไม่พยายามยกไปรบให้ทัน ปล่อยให้ทั้งสองพระองค์ทรงช้างพระที่นั่งฝ่าเข้าไปท่ามกลางข้าศึกตามลำพัง จนถึงได้กระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะ ลูกขุนได้เชิญกฎพระอัยการออกค้นดู เห็นว่าจะได้รับโทษถึงประหารชีวิต แต่เนื่องจากใกล้วัน 15 ค่ำ ( บัณรสี ) จึงทรงพระกรุณางดโทษไว้ก่อน ต่อวันหนึ่งค่ำ (ปาฏิบท) จึงให้ลงโทษประหาร

ตอนที่ 12 สมเด็จพระวันรัตขอพระราชทานอภัยโทษ 

  • ยังไม่พ้นเวลาที่สมเด็จพระนเรศวรทรงกำหนดไว้ พอถึงวันแรม 15 ค่ำ เวลาประมาณ 8 นาฬิกาเศษ สมเด็จพระวันรัตวัดป่าแก้ว กับพระราชาคณะ 25 องค์สองแผนก คือ ฝ่ายคามวาสี และ อรัญวาสี พากันไปยังพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้นิมนต์เข้าไปในท้องพระโรง สมเด็จพระนเรศวรทรงประนมพระหัตถ์แสดงคารวะ พระวันรัตได้ทูลถามข่าวที่สมเด็จพระนเรศวรทำยุทธหัตถีจนพระมหาอุปราชาขาดคอช้าง เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงเล่าจบ พระวันรัตกราบทูลว่า พระมหาบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงได้รับชัยชนะ เหตุใดเล่าเหล่าบริพารจึงต้องโทษ ได้ยินแล้วที่สงสัย สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสต่อไปว่า แม่ทัพนายกองทั้งปวงซึ่งได้รับเกณฑ์เข้าในกองทัพ เมื่อเห็นข้าศึกก็ตกใจกลัว ยิ่งกว่ากลัวพระองค์ซึ่งเป็นเจ้านาย ไม่ตามเสด็จให้ทัน ปล่อยให้พระองค์สองพี่น้องเข้าสู้รบท่ามกลางข้าศึกจำนวนมากจนมีชัยชนะรอดพ้นความตายจึงได้มาดูหน้าพวกทหารเหล่านั้น ทั้งนี้เพราะคุณความดียิ่งใหญ่ที่ได้ทำนุบำรุงบ้านเมืองไว้คอยอุดหนุนพระบรมเดชานุภาพของพระองค์สองพี่น้อง ถ้าไม่ได้ความดีแต่เก่าแล้วประเทศไทยจะต้องสิ้นอำนาจเสียแผ่นดินแก่กรุงหงสาวดีเป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศ จึงควรลงโทษถึงตายตามพระอัยการศึกเพื่อให้เป็นตัวอย่างมิให้คนอื่นเอาเยี่ยงอย่างสืบไป สมเด็จพระวันรัตจึงกราบทูลว่า “ บรรดาข้าทูลละอองธุลีพระบาทล้วนมีความจงรักภักดี เป็นการผิดแปลกไปจากแบบแผนแต่ก่อนที่ว่าไม่จงรักยำเกรงพระองค์ ทั้งนี้เพราะพระบรมเดชานุภาพสำแดงให้ปรากฏแก่ปวงชนเป็นที่น่าอัศจรรย์จึงบันดาลให้เป็นเช่นนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ( พระตรีโลกนาถ ) ทรงชนะพระยามารลำพังพระองค์เอง เช่นเดียวกับสมเด็จพระนเรศวร พระเอกาทศรถ เสด็จไปปราบอริราชศัตรูจนแพ้พ่ายโดยปราศจากไพร่พล พระเกียรติยศจึงเลื่องลือกึกก้องไปทั่วทุกแห่งหน หากมีทหารล้อมมากมายถึงเอาชนะได้พระเกียรติยศก็ไม่ฟุ้งเฟื่องเพิ่มพูนขึ้น และกษัตริย์ทั้งหลายก็จะไม่พากันออกพระนามเอิกเกริกกันเช่นนี้ ขอพระองค์ทั้งสองอย่าได้โทมนัสน้อยพระทัยไปเลย ทั้งนี้เพราะเพื่อราชกฤฎาภินิหารของพระองค์ ทวยเทพทั้งหลายจึงบันดาลให้เป็นไปดังนั้น ขอมหาบพิตรทั้งสองพระองค์ อย่าได้ทรงขุ่นแค้นพระทัยไปเลย ทั้งนี้เป็นไปตามที่กราบทูลทุกประการ ”
  •        สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงฟังพระวันรัตถวายวิสัชนาบรรยายโดยพิสดารโดยวิธีเปรียบเทียบกับกฤฎาภินิหารแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงปราโมทย์ ออกพระโอษฐ์สาธุถวายนมัสการแล้วตรัสว่า พระวันรัตกล่าวคำน่าขอบใจ ทุกสิ่งที่ชี้แจงสมควรและเป็นจริงไม่สงสัยแม้แต่น้อย
  •        พระวันรัตเห็นว่าทรงคลายกริ้วแม่ทัพนายกองแล้ว จึงกล่าวถวายพระพรให้พระองค์ปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งปวง แล้วกราบทูลต่อไปว่า แม่ทัพนายกองเหล่านี้มีความผิดรุนแรงควรได้รับโทษทั้งโคตร แต่เคยได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาแต่ก่อนนับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระบรมราชอัยกา และสมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดา จนล่วงถึงสมเด็จพระนเรศวรได้ขึ้นครองราชสมบัติ เปรียบได้กับพุทธบริษัททั้งปวง ช่วยกันดำรงพระพุทธศาสนาต่อมา ขอให้พระองค์ทรงงดโทษประหารชีวิตแม่ทัพนายกองไว้สักครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้เป็นกำลังส่งเสริมพระบรมเดชานุภาพ เมื่อศึกสงครามเกิดขึ้นอีก เขาเหล่านั้นจะคิดแก้ตัว หาความดีความชอบเพื่อเพิ่มพูนพระบารมีให้แผ่ไปทั่วบ้านเมืองชองพระองค์เป็นแน่ สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงสดับข้อความของพระวันรัตที่ทูลขออภัยบรรดาแม่ทัพนายกองทั้งปวง ก็ทรงพระกรุณาที่ว่าบุคคลเหล่านี้ยังจงรักภักดีต่อพระองค์อยู่ จึงพระราชทานอภัยโทษตามคำทูลของพระวันรัต แต่ทรงเห็นสมควรที่จะใช้ให้ไปตีเมืองตะนาวศรี ทวาย และ มะริด เป็นการชดเชยความผิด สมเด็จพระวันรัตกราบทูลว่า การรบทัพจับศึกไม่ใช่กิจอันควรที่พระภิกษุจะเห็นด้วย พระองค์จะทรงมีพระราชบัญชาใช้สอยประการใดสุดแล้วแต่พระราชอัธยาศัย แล้วสมเด็จพระวันรัตถวายพระพรลา พาคณะสงฆ์กลับวัด สมเด็จพระนเรศวรจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้แม่ทัพนายกองพ้นโทษและคงดำรงตำแหน่งยศเดิม
  •        สมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระราชกำหนดให้ เจ้าพระยาคลังคุมทหาร 50,000 คน ไปตีเมืองทวาย ให้เจ้าพระยาจักรีคุมทัพจำนวนรี้พลเท่ากันไปตีเมือง มะริด และ ตะนาวศรี มหาอำมาตย์ทั้งสองกราบถวายบังคมลาไปเตรียมทัพยกไปทันทีแล้วทั้งสองพระองค์ก็มีพระราชดำรัสถึงหัวเมืองฝ่ายเหนือว่า ไทยได้กวาดต้อนครอบครัวเข้ามาจำนวนมากแต่ยังไม่หมด ทรงมีพระราชดำริว่าถึงศึก พม่า มอญ ว่าคงจะลดลงถึงจะยกมาก็คงไม่น่ากลัว ควรจะได้ทะนุบำรุงหัวเมืองฝ่ายเหนือไว้ให้รุ่งเรืองปรากฏเป็นเกียรติยศสืบต่อไปชั่วกัลปาวสาน

เรืี่องย่อขุนช้างขุนแผน

เนื้อเรื่องตอนที่ 1 เปิดเรื่อง

  •        กล่าวถึงกำเนิดของตัวละครสำคัญสามตัว คือ ขุนแผน ขุนช้าง และนางพิมพิลาไลย พลายแก้วเป็นลูกของขุนไกรพลพ่ายกับนางทองประศรี เมื่อบิดาถูกสมเด็จพระพันวษารับสั่งให้ประหารชีวิต เพราะความผิดที่ได้ฆ่ากระบือเป็นจำนวนมากหน้าพระที่นั่ง เนื่องจากกระบือแตกตื่นขวิดผู้คน เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรีเพื่อล่ากระบือ มารดาจึงพาไปอยู่กับญาติที่เมืองกาญจนบุรี ขุนช้างเป็นลูกของขุนศรีวิชัยกับนางเทพทอง บิดาถูกโจรฆ่าตาย นางพิมเป็นลูกของพันศรโยธากับนางศรีประจัน บิดาเป็นไข้ป่าถึงแก่ความตาย
  •        ทั้งพลายแก้ว ขุนช้าง และนางพิมเป็นเพื่อนเล่นกันมาแต่เด็ก พลายแก้วได้บวชเป็นสามเณรและ เล่าเรียนวิชาที่กาญจนบุรี ต่อมาย้ายมาอยู่วัดป่าเลไลยก์เมืองสุพรรณ ส่วนขุนช้างแต่งงานกับนางแก่นแก้วได้ปีกว่าภรรยาก็ตาย นางพิมพบกับเณรแก้วที่วัด เมื่อคราวไปทำบุญกับมารดา ต่างก็จำกันได้จึงมีจิตผูกรักต่อกัน ต่อมาได้นางสายทองพี่เลี้ยงของนางพิมเป็นสื่อนัดแนะ จนเณรแก้วได้เสียกับนางพิม และได้นาง สายทองด้วยเมื่อถูกสมภารให้ออกจากวัดป่าเลไลยก์ ก็ไปอยู่กับสมภารคงวัดแค และได้เล่าเรียนวิชาทางไสยศาสตร์หลายอย่าง ต่อมาเมื่อทราบว่าขุนช้างได้มาสู่ขอนางพิม เณรแก้วจึงลาอาจารย์สึกแล้วให้มารดาสู่ขอนางพิมและแต่งงานกันตามประเพณี
  •        เมื่อเกิดศึกเชียงใหม่ยกมาตีเมืองเชียงทอง อันเป็นอาณาเขตกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระพันวษาทรงทราบถึงความสามารถของพลายแก้ว ก็รับสั่งให้เข้าเฝ้า และแต่งตั้งให้แม่ทัพไปรบที่เชียงทอง จนตีเมือง เชียงทองได้ชัยชนะ แล้วยกทัพตามทัพเชียงใหม่ไปถึงลำพูน ตั้งค่ายที่บ้านจอมทอง แสนคำแมนได้ยกนาง ลาวทองให้เป็นภริยา หลังจากพลายแก้วไปแล้วไม่นาน นางพิมได้ล้มป่วย เมื่อเปลี่ยนชื่อเป็นวันทองจึงหายป่วย ขุนช้างซึ่งยังต้องการนางเป็นภริยาได้ใช้อุบายต่าง ๆ เพื่อแสดงว่าพลายแก้วตายแล้ว และอ้างว่าเมื่อสามีไปทัพตายภรรยาจะถูกริบเป็นม่ายหลวง ประกอบทั้งถูกมารดาบังคับเฆี่ยนตี นางวันทองจึงเข้าพิธีแต่งงานกับขุนช้าง แต่ยังรออยู่ไม่ยอมร่วมหอ
  •        ฝ่ายพลายแก้ว เมื่อมีชัยชนะกลับมา ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนแผนแสนสะท้าน คุมไพร่พลห้าร้อยมีหน้าที่รักษาเขตแดนทางเมืองกาญจนบุรี เมื่อเดินทางมาสุพรรณบุรีทราบเรื่องจากนางวันทอง ก็มีความโกรธจะฆ่าขุนช้าง แต่นางลาวทองซึ่งมากับขุนแผนด้วยได้ห้ามไว้ นางวันทองกับนางลาวทองเกิดทะเลาะกันด้วยความหึงหวง เป็นเหตุให้นางวันทองกล่าวถ้อยคำก้าวร้าวขุนแผน ขุนแผนโกรธถึงกับจะฆ่านางวันทองพร้อมทั้งแสดงอาการไม่ไยดี พานางลาวทองไปอยู่กาญจนบุรี นางวันทองคิดว่าขุนแผนสิ้นรักนางแล้วจึงยอมเป็นภริยาขุนช้าง

เนื้อเรื่องตอนที่ 2 ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง

  •        ต่อมาขุนแผนลอบขึ้นเรือนขุนช้าง ใช้มนต์สะกดผู้คนในเรือนแล้วเข้าห้อง เห็นขุนช้างนอนอยู่กับนางวันทองก็โกรธ จึงมัดขุนช้างกับนางวันทองติดกัน แล้วให้ตามผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาให้รับรู้ พร้อมแจ้งให้กำนันทราบแล้วก็กลับไป ต่อมามีรับสั่งให้ขุนแผนเข้าไปฝึกหัดราชการที่กรุงศรีอยุธยา พอถึงเวรขุนแผน บังเอิญนางลาวทองป่วยหนัก ขุนแผนฝากเวรไว้กับขุนช้างซึ่งได้รับราชการอยู่ด้วยกัน แล้วออกไปเผ้าไข้ นางลาวทอง เมื่อสมเด็จพระพันวษาเสด็จออกว่าราชการไม่เห็นขุนแผนก็รับสั่งถามถึง ขุนช้างคิดกำจัดขุนแผน จึงทูลว่าขุนแผนละทิ้งหน้าที่ไปหาภริยาจึงทรงกริ้ว สั่งลงโทษขุนแผนให้ออกตระเวนอยู่ตามชายแดน ห้ามเข้ามาในกรุงและกักขังนางลาวทองไว้ในพระราชวัง
  •        ขุนแผนเมื่อทราบความจริง จึงผูกพยาบาทขุนช้าง ขณะเดียวกันก็แสวงหาของวิเศษที่ทำให้มีฤทธิ์มาก คือกุมารทอง ดาบฟ้าฟื้น และม้าสีหมอก โดยได้ฝากตัวอยู่กับหมื่นหาญซึ่งเป็นนายซ่องโจรได้นาง บัวคลี่ ลูกสาวหมื่นหาญเป็นภริยา ต่อมาหมื่นหาญไม่พอใจที่ขุนแผนไม่ยอมออกปล้น จึงคิดกำจัดเสีย โดยให้นางบัวคลี่วางยาพิษ แต่พรายได้กระซิบให้ขุนแผนรู้ ขุนแผนจึงฆ่าบัวคลี่ ควักเอาลูกในท้องไปทำพิธีปลุกเสกเป็นกุมารทอง เมื่อกลับมากาญจนบุรีก็ทำพิธีตีดาบตามตำรามหาศาสตราคม ให้ชื่อว่าดาบฟ้าฟื้น แล้วเดินทางไปแสวงหาม้าสีหมอกตามตำราที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อได้แล้วก็เดินทางกลับกาญจนบุรี
  •        ต่อมาขุนแผนคิดถึงนางวันทองจึงเดินทางไปสุพรรณบุรี ขึ้นเรือนขุนช้างในเวลากลางคืน สะกดผู้คนให้หลับแล้วเดินหาห้องนางวันทอง พบนางแก้วกิริยาบุตรีพระยาสุโขทัยซึ่งบิดานำมาขายให้ขุนช้าง ได้เป็นภริยาแล้วมอบเงินให้ไว้ไถ่ตัว ขุนแผนได้พานางวันทองหนีไปจากบ้านขุนช้าง ชุนช้างพาพวกพ้องติดตามไปทันในป่าแต่สู้ขุนแผนไม่ได้ จึงเข้ากราบทูลกล่าวโทษขุนแผนต่อพระพันวษา พระพันวษาจึงมีหมายรับสั่งให้จับขุนแผนกับนางวันทองส่งมากรุงศรีอยุธยา ขุนแผนพานางวันทองซึ่งกำลังมีครรภ์ เข้ามอบตัวต่อเจ้าเมืองพิจิตร เจ้าเมืองพิจิตรทำใบบอกส่งตัวขุนแผนกับนางวันทองเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา นางแก้วกิริยาซึ่งได้ไถ่ตัวเป็นอิสระแล้ว ได้พบขุนแผนกับนางวันทองซึ่งถูกจองจำโซ่ตรวนระหว่างถูกส่งตัวเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาด้วย สมเด็จพระพันวษารับสั่งให้ชำระคดีระหว่างขุนแผนกับขุนช้าง คณะตุลาการตัดสินให้ขุนแผนชนะคดีและได้นางวันทองคืนไป
  •        เมื่อขุนแผนชนะความแล้วไม่นานก็คิดถึงนางลาวทอง ซึ่งถูกกักขังอยู่ จึงขอให้จมื่นศรีเสาวรักษ์ ผู้ที่ตนมาอาศัยอยู่ด้วยทูลขออภัยโทษให้นางลาวทอง พอกราบทูล พระพันวษาทรงกริ้วมากสั่งให้เอาขุนแผนไปจองจำไว้ นางแก้วกิริยาได้เข้าไปปรนนิบัติ อ่านเพิ่มเติม